กินอย่างไร เมื่อความดันเลือดสูง

กินอย่างไร เมื่อมีความดันเลือดสูง คนที่มีความดันเลือดสูงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ลดอาหารเค็ม คำว่า “เค็ม” ไม่ได้หมายถึงเกลือทะเล หรือเกลือสินเธาว์สีขาวๆ เท่านั้น แต่หมายถึง “โซเดียม” ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเกลือแกงที่ให้รสเค็ม และโซเดียมที่ว่านี้ นอกจากอยู่คู่กับเกลือรสเค็มแล้ว ยังอยู่ในรูปของเครื่องปรุงอาหารอื่นๆ อีกหลายชนิดที่เรานึกไม่ถึง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ผงฟูที่ใช้ทำขนมปังหรือขนมเค้กต่างๆ เป็นต้น

การกินโซเดียมมากจะไปทำให้ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อเลือดเพิ่มขึ้นก็ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงตึงมากขึ้น จึงทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นนั่นเอง การกินโซเดียมลดลงจึงมีส่วนในการรักษาความดันเลือดได้ โดยทั่วไปคนเราต้องการโซเดียมประมาณวันละ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณ

โซเดียมในเกลือแกง 1 ช้อนชาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเกลือไม่ได้เป็นแหล่งของโซเดียมเพียงแหล่งเดียว เครื่องปรุงรสทุกชนิดก็มีโซเดียมอยู่ โดยเฉพาะน้ำปลา/ซีอิ้ว 1 ช้อนชามีโซเดียมประมาณ 350-500 มิลลิกรัม ดังนั้นเราควรระวังการใช้เครื่องปรุงรสในอาหาร

อาหาร dash

แนวทางลดการกินโซเดียม

1. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด ควรชิมอาหารก่อนที่จะเติมเครื่องปรุง จำไว้ว่าน้ำปลาหรือซีอิ้ว 1 ช้อนชามีโซเดียมประมาณ 350-500 มิลลิกรัม

2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใส่น้ำมากๆ แล้วเติมเกลือหรือเครื่องปรุงรสจัด เช่น กินผัดผักดีกว่าน้ำซุปปรุงรสจัด กินก๋วยเตี๋ยวแห้งดีกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำ
เลิกใส่ผงชูรส และบอกแม่ค้างดใส่ผงชูรสเมื่อกินอาหารนอกบ้าน

3. หลีกเลี่ยง อาหารหมักดองและอาหารแปรรูป เพราะอาหารประเภทเดียวกันเมื่อทำการแปรรูปจะมีโซเดียมสูงขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เช่น เนื้อหมูต้ม มีโซเดียม 50-80 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เมื่อทำเป็นหมูยอมีโซเดียม 750-800 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

4. หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง หากผสมเครื่องปรุงรสทั้งหมดจะมีปริมาณโซเดียมประมาณ 1,000-1,800 มิลลิกรัม จึงไม่ควรใส่เครื่องปรุงจนหมดซอง

5. ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ/น้ำปลา/เครื่องปรุงรสอื่นๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนด ไว้ในสูตรอาหาร ถ้ารสชาติไม่อร่อยจริงๆ จึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณของเครื่องปรุงรสเหล่านั้น หรือกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือเผ็ดนำแทนรสเค็ม

6. ลดการกินขนมหวานที่มีส่วนประกอบของเกลือ เช่น ข้าวหลาม ข้าวเหนียวมูน

7. หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว เพราะส่วนใหญ่ใช้เครื่องปรุงรสในปริมาณมาก ก่อนกินควรอ่านฉลากโภชนาการ โดยให้เลือกขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

ความดันเลือด

ความดันโลหิตสูง จะมีผลเสียต่อร่างกายคือ คนที่เป็นความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการ แต่หากไม่รักษาจะทำให้หัวใจโต และหัวใจวายในที่สุด ผลจากความดันก็ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างไม่พอก็ทำให้เกิดโรคกับอวัยวะนั้น เช่นโรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เราสามารถที่จะควบคุมความดันโลหิตโดยวิธีการดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  • ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ และมีเกลือน้อย
  • ดื่มสุราให้ลดลง
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ขอบคุณที่มา มูลนิธิหมอชาวบ้าน ,pioneer.netserv.chula.ac.th,ukhealthcare.uky.edu

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *