
การเลี้ยงเป็ดเนื้อระบบฟาร์มปิด อีกอาชีพน่าสนใจ แม้ในปัจจุบันไม่ค่อยจะพบเห็นเกษตรกรรายย่อยทำกันสักเท่าไหร่ เนื่องจากอาจจะเป็นเพราะการเลี้ยงเป็ดต้องใช้พื้นที่ และต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพราะจากที่เคยประสบปัญหาเรื่องไข้หวัดนกระบาดดังนั้นเมื่อมันดูเหมือนยากและคนทำน้อย บางกอกทูเดย์มองว่ามันคือโอกาสเลยนำการเลี้ยงเป็ดเนื้อมาแชร์เล่าสู่กันฟัง
การอนุบาลลูกเป็ด ลูกเป็ดที่จะนำมาเลี้ยงควรมีอายุ 1 วัน ถ้ามากกว่านั้นสภาพของลูกเป็ดจะค่อนข้างโทรม เพราะภายใน 24 ชั่วโมง เป็ดจะได้อาหารจากไข่แดงที่อยู่ในท้อง หลังจาก 24 ชั่วโมง ไข่แดงถูกย่อยไปหมด ลูกเป็ดจึงจะต้องการอาหาร ก่อนนำลูกเป็ดเข้ากกต้องเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ก่อน โรงเรือนที่เหมาะสมจะต้องมีผ้าใบล้อมเพื่อกันลมไม่ให้พัดโกรกลูกเป็ด และในโรงเรือนจะต้องมีวัสดุรองพื้น ซึ่งอาจจะเป็นแกลบหรือขี้เลื่อยก็ได้ ส่วนในการกกควรจะต้องล้อมให้เป็นวงกลม เพื่อจะได้ไม่มีมุมให้ลูกเป็ดซุก เครื่องกกที่ให้ความร้อนลูกเป็ดจะเป็นไฟฟ้าหรือแก๊สก็ได้ ในการกกจะต้องมีถาดอาหารและกระติกน้ำสำหรับลูกเป็ดให้เพียงพอ ในน้ำที่ให้ควรเจือจางวิตามินด้วย ขนาดกกเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ไม่ควรกกลูกเป็ดเกิน 300 ตัว อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับลูกเป็ดเราสามารถดูได้ง่ายๆ ถ้าเห็นว่าลูกเป็ดกระจายออกไปข้างกกและไม่เข้ามาใต้ไฟกกเลย แสดงว่าอุณหภูมิร้อนเกินไป แต่ถ้าลูกเป็ดสุมกันอยู่ใต้ไฟกกอย่างเดียว ไม่กระจายไปข้างกกเลย แสดงว่าความร้อนไม่พอ ลูกเป็ดยังหนาวอยู่ อุณหภูมิที่พอเหมาะคือ ลูกเป็ดจะกระจายกันทั่วกก คืออุณหภูมิประมาณ 34-35 องศาเซลเซียส หมั่นคอยทำความสะอาดกระติกน้ำ และเติมน้ำอยู่เสมอ พร้อมอาหารที่ควรจะให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ยกเว้นเวลากลางคืนซึ่งจะต้องให้เพียงพอสำหรับลูกเป็ดกินทั้งคืน ในช่วงการกกนี้ควรเปิดไฟให้แสงสว่างเป็ดตลอดคืน เมื่อครบ 3 วัน ควรจะขยายกกออกให้มีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และโรยวัสดุรองพื้นกกเพื่อไม่ให้เปียกแฉะ การกกนี้จะทำนาน 5-10 วัน แล้วแต่อุณหภูมิในขณะนั้น การดูแลเอาใจใส่ในช่วงอนุบาลอย่างดี จะทำให้ลูกเป็ดมีสุขภาพแข็งแรง ส่งผลไปถึงตัวเป็ดให้มีความแข็งแรงทนทานโรคในระยะที่เจริญเติบโต ซึ่งเป็นการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรคเมื่อเป็ดเป็นโรคแล้ว
การเลี้ยงเป็ดรุ่น ลูกเป็ดที่พ้นระยะการอนุบาลไปแล้วจะอยู่ในช่วงของเป็ดเล็ก จะมีการเปลี่ยนเบอร์อาหารที่เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของเป็ด การดูแลเอาใจใส่จะน้อยกว่าตอนอนุบาล แต่ก็ยังควรเอาใจใส่ดูแลพอสมควร เนื่องจากลูกเป็ดยังเล็กอยู่ ในแต่ละวันควรเข้ามาดูแลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นเพื่อตรวจดูอาหารและน้ำ ว่ามีเพียงพอสำหรับเป็ดหรือไม่ ในการเลี้ยงเป็ดเนื้อให้มีการเจริญเติบโตดี อาหารและน้ำต้องมีไม่ขาดตลอด 24 ชั่วโมง เป็ดเนื้อที่พัฒนาสายพันธุ์แล้ว จะมีปริมาณการกินต่อวันสูงมาก เพราะการพัฒนาพันธุ์เพื่อต้องการเร่งให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันเป็ดชนิดนี้สามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่อายุประมาณ 50-56 วัน นับว่าเร็วกว่าเป็ดสายพันธุ์พื้นเมือง และสายพันธุ์อื่นมาก ดังนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องจัดเตรียมอาหารเป็ดที่ใช้ให้เพียงพอ เพราะการที่อาหารขาดราง จะทำให้สูญเสียประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเป็ด จากการที่เป็ดเนื้อกินอาหารจุอย่างนี้ ในวงการเป็ดกล่าวไว้ว่า เป็ดกินอาหาร ดีกว่าเป็ดไม่กินอาหาร เนื่องจากเป็ดกินอาหารได้มาก หมายถึง อัตราการเจริญเติบโตที่ดี แต่ถ้าเป็ดไม่กินอาหาร แสดงว่า เป็ดมักจะมีความผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องโรคก็ได้ เพราะฉะนั้นการกินอาหารถึงแม้จะต้องเสียเงินค่าอาหารมากก็จะดีกว่าการเสียเงินรักษาโรค และอาจจะรวมถึงการเสียหายของตัวเป็ดเองด้วย
วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเป็ด ในการเลี้ยงสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์ จะเน้นให้ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันโรค ซึ่งวัคซีนที่จำเป็นสำหรับเป็ด คือวัคซีนอหิวาต์สัตว์ปีก Fowl Cholera สำหรับเป็ด ไก่ และวัคซีนกาฬโรคเป็ด Duck Plague (ดั๊กเพลก) โดยใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 โด๊ส (1 ซีซี) ซึ่งมักจะฉีดวัคซีนดั๊กเพลก ก่อนเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ และสัปดาห์ที่ 5 ฉีดวัคซีนอหิวาต์ บริเวณกล้ามเนื้อของเป็ดที่ฉีดจะเป็นน่องของเป็ด หลังจากฉีดควรนำวิตามินละลายน้ำผสมให้ลูกเป็ดกินเพื่อจะได้ไม่เครียด
โรคของเป็ด โรคอหิวาต์ของเป็ดเป็นโรคติดต่อของเป็ด ไก่ ห่าน และสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ลักษณะของโรค สังเกตจากบริเวณหน้ามีสีคล้ำ เนื่องจากการขาดออกซิเจน เพราะมีการติดเชื้อของระบบหายใจ จะมีอาการหายใจเสียงดัง และหายใจลำบาก และมีอาการคอบิด เนื่องจากติดเชื้อในระบบหายใจลามไปถึงหูชั้นกลาง หรือโพรงกระดูกที่หัวกะโหลก อาการที่ชัดเจนคือ เป็ดจะมีอาการท้องเสีย ในระยะแรกจะเป็นสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและมีมูก ส่วนใหญ่จะมีอัตราการตายต่ำ ยกเว้นมีอาการเฉียบพลันจะมีอัตราการตายสูง กาฬโรคเป็ด โรคนี้จะเป็นเฉพาะเป็ดกับห่าน โรคนี้มีอัตราการตายสูงมากและมีการตายอย่างรวดเร็ว โดยเป็ดจะมีอาการท้องเสีย มีเลือดติดที่ก้น เพราะเส้นเลือดในลำไส้ฉีกขาด มีอาการทางประสาท เช่น การว่ายน้ำเป็นวงกลม
อาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงเป็ด อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ดของฟาร์ม เป็นอาหารสำเร็จรูป 3 ระยะ คือ เบอร์ 1 เป็ดเล็ก ใช้สำหรับเป็ดอายุ 1-14 วัน อาหารเป็ดรุ่น เบอร์ 2 ใช้สำหรับเป็ดอายุ 15-32 วัน ส่วน เบอร์ 3 เป็นอาหารเป็ดเนื้อระยะสุดท้าย ใช้ตั้งแต่เป็ดอายุ 33 วัน จนถึงจับเป็ดขาย ประมาณ 52-56 วัน ถ้าเกษตรกรเลี้ยงนานกว่านี้จะขาดทุน เนื่องจากเมื่อเป็ดโตเต็มที่ เมื่ออายุ 56 วัน แล้ว การกินอาหารหลังจากนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง และเมื่อเกินกว่าระยะนี้มากก็จะไม่เติบโตอีก เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องวางแผนการจับให้ตรงตามกำหนด เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่ดี การที่ฟาร์มเน้นใช้อาหารสำเร็จรูปของบริษัท เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปของบริษัทที่มีมาตรฐานจะเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูงเหมาะกับเป็ดพัฒนาพันธุ์มาเพื่อการค้าการที่เราผสมอาหารเองจะยุ่งยากในการสั่งซื้อวัตถุดิบการเก็บรักษาการตรวจสอบคุณภาพและขั้นตอนการผสมอาหารด้วย แต่สำหรับเป็ดพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงทั่วไปและมีปริมาณไม่มากนักควรจะผสมอาหารกินเอง เนื่องจากจะได้อาหารที่มีราคาถูกกว่า และการเลี้ยงเป็ดสายพันธุ์ปักกิ่งลูกผสมเป็นการค้านี้
การขายเป็ดเนื้อ การตลาดเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะต้องตกลงกับผู้ซื้อในวันเวลาที่พร้อมจะจับก่อนจึงจะเริ่มเลี้ยงได้ เพราะถ้าเลยระยะเวลาแล้ว กำไรที่ได้จะลดลง และถ้าเลยระยะเวลาไปนานนั่นหมายถึงการขาดทุน
คำบอกเล่าของเจ้าของฟาร์มเป็ด คุณธนากานต์ เอกคณาสิงห์ มองเห็นวิกฤติที่เป็นโอกาส จึงเริ่มเพิ่มปริมาณการเลี้ยงเป็ดเนื้อ จากการที่ทดลองเลี้ยงแค่ 2,000 ตัว โดยการเพิ่มจำนวนโรงเรือนในการเลี้ยง คุณธนากานต์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากปริมาณผู้เลี้ยงรายย่อยอิสระหายไปจากระบบวงจรของการเลี้ยงเป็ด และจากการทดลองเลี้ยงเป็ดเนื้อที่ผ่านมามีผลกำไรที่ได้รับเหมาะสมกับการลงทุน นอกจากนี้ การที่ตัวเองเป็นตัวแทนขายอาหารและยาสัตว์เอง ทำให้ต้นทุนในการซื้ออาหารสัตว์มีราคาถูกกว่าผู้ประกอบการรายอื่น บนที่ดินประมาณ 40 ไร่ ในบ้านหนองนา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีโรงเรือนทั้งหมดจำนวน 14 หลัง เป็นโรงเรือนที่ประกอบด้วยโครงเหล็ก หลังคากระเบื้อง มีตาข่ายอวนปิดกันนก ในประเด็นนี้ คุณธนากานต์ได้เล่าให้เราฟังว่า หลังจากเหตุการณ์ไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์ ได้นำเอามาตรฐานฟาร์มที่ใช้สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงเป็ดเนื้อเพื่อการส่งออก มาบังคับใช้กับทุกฟาร์มเพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หวัดนก โดยกำหนดให้จะต้องเป็นโรงเรือนปิดเท่านั้น และความหมายของโรงเรือนปิดไม่ได้หมายถึงโรงเรือนที่ใช้ระบบอีแว็ปเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการใช้ตาข่ายป้องกันไม่ให้นก หรือพาหะนำโรคอื่นเข้ามาในโรงเรือนได้ ก็ถือว่าเป็นระบบปิดแล้ว การทำมาตรฐานฟาร์มเป็นการจัดการฟาร์มที่ดี เพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นแก่สัตว์ เช่น การทำรั้วรอบขอบชิดไม่ให้มีการเข้าออกได้ง่าย การพ่นยาฆ่าเชื้อสำหรับผู้ที่จะเข้าฟาร์ม การควบคุมการใช้ยาและวัคซีนอย่างเคร่งครัด ทั้งหมดล้วนเป็นการป้องกันโรคไม่ให้เกิดแก่ฟาร์ม สำหรับฟาร์มเก่าที่ยังไม่ได้มาตรฐานก็ควรต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้ามาตรฐานฟาร์มให้ได้
การเลี้ยงเป็ดเนื้ออาชีพที่น่าสนใจ ถ้าจะเลี้ยงเป็ดให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงเป็นหลัก ส่วนใหญ่มักจะปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะในช่วงอนุบาล ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลยในช่วงนั้นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าช่วงต่อๆ ไป จะดูแลเอาใจใส่น้อยหรือไม่ สำหรับการทำการตลาด การขายเป็ดเนื้อเป็นเรื่องสำคัญหากต้องการจะทำการเลี้ยงเพื่อขายแล้ว ควรศึกษาหาตลาด ตลอดจนโอกาสช่องทางการจำหน่ายเป็ดว่ามีความต้องการเท่าไหร่ ตลอดจนต้นทุนต่างๆ ทั้งการเลี้ยง การจำหน่ายด้วย ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์บนโลกอินเตอร์เน็ต
ขอบคุณ มติชนออนไลน์
Leave a Reply