วิธีทำปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง แบบ ม.แม่โจ้

การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง สร้างมูลค่า ลดต้นทุน นอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศจากการเผาฟางหรือเศษขยะจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้งามๆให้กับเกษตรกร ดังที่มีคนทำแล้วสำเร็จ ลงทุน ประมาณ 1.8 แสนบาทได้ปุ๋ยอินทรีย์มูลค่า 1.2 ล้านบาท ใครสนใจบางกอกทูเดย์เรามีวิธีการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ จาก กูรูด้านนี้มาให้..

การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง

จากการใช้แค่ฟางข้าวในนา เพียง 2 เดือนจะได้ปุ๋ยไว้ใช้ในไร่นา โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี โดย ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้คิดค้นวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่ “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” เผยให้ฟังว่า จากผลการค้นคว้าวิจัยของคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ.2552 ได้มีนวัตกรรมใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง จากการใช้หลักการทางวิศวกรรมด้านการพาความร้อนมาประยุกต์ใช้ เกษตรกรจะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีได้ในปริมาณมาก ครั้งละ 10 – 100 ตัน เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีกลิ่นและไม่ทำให้น้ำเสีย

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง

มีเพียงเศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่างเท่านั้น โดยถ้าเศษพืชเป็นฟางข้าวอัตราส่วนระหว่างฟางข้าวกับมูลสัตว์คือ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร และถ้าเป็นเศษใบไม้ให้ใช้อัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร ทั้งนี้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ยังมีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

 

1. นำฟางข้าว 4 ส่วน วางเป็นชั้นบาง ๆ สูงไม่เกิน 10 ซ.ม. ฐานกว้าง 2.5 เมตร โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (เช่น นำฟาง 16 เข่ง มาวางหนา 10 ซ.ม. โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เพื่อให้เป็นสัดส่วน 4 ต่อ 1 ) ทำแบบเดิมไปเรื่อย ๆ จนได้ชั้นฟาง 15 – 17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร ชั้นบนสุดเป็นมูลสัตว์ กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มีความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบาง ๆ 15 – 17 ชั้น ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอนที่มีอยู่ในเศษพืชและธาตุไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ ซึ่งจะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

2. ตลอดเวลา 60 วัน ให้รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60 – 70) โดยมี 2 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกวัน ๆ ละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป ขั้นตอนที่ 2 เมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้หรือเหล็กแทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ จากข้อดีที่น้ำฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้ เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย ปริมาณน้ำที่เติมโดยรวมต้องไม่ทำให้มีน้ำเจิ่งนองออกมามากเกินไป ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี ความร้อนสูงนี้เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์มีมากมายและหลากหลายในมูลสัตว์อยู่แล้ว) และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย (จุลินทรีย์กลุ่มชอบความร้อนสูง Thermophiles และ Mesophiles) หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาจนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน

3. เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียงประมาณ 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัว (Stabilization Period) ไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉย ๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายให้มีความหนาประมาณ 20 – 30 ซม. ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3 – 4 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ก็อาจนำปุ๋ยอินทรีย์ที่แห้งแล้วไปตีป่นให้มีขนาดเล็กสม่ำเสมอกัน ซึ่งจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 5 – 7 บาท สามารถเก็บได้นานหลายปี สำหรับข้อห้าม ของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีดังกล่าวคือ

  • ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้
  • ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ
  • ห้ามวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไป การวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไปจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้
  • ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทำให้ต้นไม้ตายได้
  • ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

เรื่องเล่า ความสำเร็จ ปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง

ปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง

จากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับจังหวัดลำพูนในความพยายามแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดจากการเผาเศษพืช จังหวัดลำพูนจึงได้ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีความยาวที่สุดในโลก 1 กิโลเมตรด้วยวิธี วิศวกรรมแม่โจ้ 1 ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โกดังทวีพืชผล ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีการลงทุนค่ามูลสัตว์ 180,000 บาท แต่จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ 300 ตันที่มีมูลค่าสูงถึง 1,200,000 บาท

    การดำเนินโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในอนาคตเพื่อลดการเผาเศษพืช โดยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ นับว่าเป็นแนวทางที่สามารถดำเนินได้อย่างเป็นรูปธรรมและทำได้จริง และยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณมากเป็นผลิตผล ที่สามารถนำไปใช้ในงานเกษตรกรรมได้อีกด้วย

ปุ๋ยหมักอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง ลดมลภาวะ

สาเหตุประการหนึ่งของปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยของทุกปี ก็คือการเผาทำลายเศษพืชที่เหลือจากการเกษตรกรรม เช่น เปลือกและซังข้าวโพด เศษใบไม้ และฟางข้าว เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการเศษพืชปริมาณมากที่เกิดขึ้น ในขณะที่การนำเศษพืชมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็มีปัญหาการต้องพลิกกลับกองปุ๋ยที่สิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน การเผาทำลายเศษพืชจึงยังเป็นวิธีการจัดการเศษพืชที่ง่ายที่สุดของเกษตรกรที่ผ่านมา
ในการเพาะปลูกของเกษตรกรสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดคือความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะได้มาจากการที่มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ในดินอยู่มาก จุลินทรีย์ดินจะใช้อินทรีย์วัตถุเป็นสารอาหารแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุที่จำเป็นให้แก่พืชในปริมาณที่พืชต้องการอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ ธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน-N ฟอสฟอรัส-P2O5 และโพแทสเซียม-K2O) ธาตุอาหารรอง (กำมะถัน แคลเซียม และแมกนีเซียม) และจุลธาตุ (แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก และสังกะสี) ซึ่งโดยปกติแล้วดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดินก็คือไส้เดือน เราจึงมักจะพบว่าดินดำในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงที่สามารถปลูกพืชได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีใด ๆ จะมีไส้เดือนอยู่มาก  

เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาเกษตรกรจึงควรงดการเผาเศษพืช และนำเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีแล้วนำไปปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุและความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ที่จะส่งผลให้การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตก็จะลดลง มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลกำไรมากขึ้นตามไปด้วย ดินเพาะปลูกจะกลับมาเป็นดินดำที่ฟู นุ่ม โครงสร้างเม็ดดินจะร่วนซุยขึ้น มีไส้เดือนกลับคืนมาที่ช่วยการชอนไชของรากพืช พืชก็จะกลับมาแข็งแรง เกษตรกรและประชาชนจะมีสุขภาวะที่ดีจากการลดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาและลดการใช้สารเคมี

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ติดต่อได้ที่ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5387-8123

ขอบคุณ compost.mju.ac.th,เพ็จเกษตรกรก้าวหน้า

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *