[หน่อเงินหน่อทอง] วิธีปลูกไผ่หวาน โดยปราชญ์ชาวบ้าน

วิธีปลูกไผ่หวาน โดยปราชญ์ชาวบ้าน จ.แพร่ โดย คุณวรรณบดี รักษา ได้รับการยกย่องให้เป็นเซียนด้านไผ่หวาน เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่พัฒนาสายพันธุ์ไผ่หวานมาอย่างต่อเนื่อง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองมีหนี้จากการทำเกษตรจำนวนมาก ประมาณ 6 ล้านบาท ต้นเหตุมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ “ส้มเขียวหวาน” เมื่อทำการเกษตรแบบเดิมก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ตนจึงคิดหาวิธีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ขึ้นมา

คุณวรรณบดี หันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี สำหรับการปลูกไผ่นั้น ครั้งแรกตนตั้งใจที่จะปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ค้ำเท่านั้น และเวลามีหน่อก็เก็บออกขายบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนปลูกไผ่ธรรมดา ไม่ได้ปลูกไผ่หวานแต่อย่างใด เหตุที่สนใจศึกษาทางด้านไผ่หวาน เพราะคนไทยนิยมชมชอบการบริโภคหน่อไม้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่บริโภคหน่อไม้ไปแล้วเกิดอาการปวดท้อง ปวดหัว ปวดเข่า เพราะในหน่อไม้ทั่วไปจะมีสารไซยาไนด์ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเราสามารถกำจัดสารนี้ได้ด้วยการต้มเป็นเวลาประมาณ 30 นาที แล้วเทน้ำทิ้ง แต่บางคนบอกว่าถึงจะต้มแล้ว เมื่อรับประทานเข้าไปก็ยังปวดข้อปวดเข่าอยู่ดี จึงมาคิดว่าทำอย่างไรคนเหล่านี้จะสามารถรับประทานหน่อไม้ได้เหมือนคนปกติ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาเกี่ยวกับหน่อไม้และพบว่าในประเทศไทยมีไผ่ที่ให้หน่อหวาน รับประทานสดได้

โดยการปลูกไผ่แบบเพาะเมล็ด และปลูกเลี้ยงจนกระทั่งไผ่ออกหน่อ จากจำนวนไผ่ 4,000 ต้น คัดพันธุ์ลักษณะดีได้เพียง 4 ต้น จากนั้นก็นำมาขยายพันธุ์ในแปลงทดลอง จนกระทั่งปัจจุบันจากไผ่ 4 ต้น กลายเป็นไผ่ 10 ไร่ และได้ตั้งชื่อไผ่ที่เกิดจากการคัดพันธุ์ลักษณะดีนี้ว่า ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง และพัฒนาสายพันธุ์ไผ่หวานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาสายพันธุ์ไผ่สำเร็จแล้วจำนวนกว่า 7 สายพันธุ์ เช่น ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง, ไผ่รวกหวานยอดเพชร, ไผ่รวกหวานเพชรเด่นชัย, ไผ่หวานเพชรภูเรือ เป็นต้น และมีพื้นที่การเพาะปลูกไผ่ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 50 ไร่

การปลูกเลี้ยงไผ่หวานให้ได้ผลผลิตดี

ไผ่หวานเป็นไผ่ที่ปลูกเลี้ยงไม่ยาก ซึ่งสายพันธุ์ที่เหมาะแก่การปลูกเลี้ยงทางเศรษฐกิจนั้น แนะนำ 2 สายพันธุ์ คือ ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง และไผ่รวกหวานยอดเพชร มีจุดเด่นที่แตกต่างกันคือ ไผ่บงหวานจะมีรสชาติหวานกรอบเหมาะกับการรับประทานสด เช่น ทำส้มตำ ทำสลัด หรือเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก , ส่วนไผ่รวกหวาน เนื้อหน่อหวานนิ่ม อมน้ำแกง ทำให้เมื่อนำมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะต้ม ผัด หรือแกง รสชาติจะอร่อยมาก ไผ่ทั้ง 2 ชนิดยังให้หน่อดกและใหญ่ สามารถผลิตนอกฤดูได้ โดยให้ผลผลิตต่อไร่ต่อปีไม่ต่ำกว่า 1,500 กิโลกรัม รวมทั้งยังให้ผลผลิตเร็ว โดยไผ่จะเริ่มให้หน่อและเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนที่ 7-8 เป็นต้นไป และจะมีอายุการให้หน่อยืนยาวไม่ต่ำกว่า 70 ปี ไผ่จึงจะออกดอกและตายลง  การดูแลแปลงไผ่เป็น 2 ช่วง คือ มกราคม-กันยายน คือช่วงที่เก็บผลผลิตจำหน่าย และช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม เป็นช่วงพักแปลง โดยการจัดการนั้นภายหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคมแล้ว เดือนกันยายนเราจะเริ่มปล่อยให้หน่อบินเกิดเป็นลำไผ่ จากนั้นต้นเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มลงมือตัดแต่งกอไผ่ โดยเลือกตัดลำไผ่เก่าออกให้เหลือลำไผ่เพียงกอละ 5-8 ลำ เสร็จจากการตัดแต่งกิ่งก็จะต้องให้ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ยมูลวัวหรือมูลไก่กอละ 15-20 กิโลกรัม แล้วจึงใช้แกลบสดหรือแกลบเผาคลุมโคนต้นทับอีกที เพื่อรักษาความชื้น จากนั้นให้น้ำไผ่ โดยผ่านระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับแปลงไผ่ที่ปลูกไว้เพื่อการค้า โดยต้องให้น้ำ 5-7 วันต่อครั้ง เป็นเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ว่าแห้งแล้งมากน้อยแค่ไหน

ปลูกไผ่หวานขาย
ภาพจากแฟนเพจเกษตรกรก้าวหน้า

 

การเก็บหน่อไผ่หวาน

ส่วนในช่วงเก็บผลผลิตจำหน่ายนั้น ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องขยันเก็บหน่อไม้จำหน่าย เพราะหากขยันเก็บหน่อออก หน่อใหม่ ๆ จะยิ่งขึ้นมาให้เกษตรกรขุดขายได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้ง 8 เดือน แต่ถ้าเราปล่อยให้หน่อบินขึ้นเป็นลำ ไผ่จะออกหน่อน้อยลง นอกจากนี้ต้องหมั่นดูแลเรื่องระบบน้ำ ควรให้แปลงปลูกมีความชื้นสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรให้ชื้นแฉะมากเกินไป ซึ่งการให้น้ำ 5-7 วันต่อครั้งถือว่ากำลังพอเหมาะ ผู้ที่เคยรับประทานหน่อไม้แล้วปวดข้อปวดเข่าก็สามารถรับประทานไผ่สายพันธุ์นี้ได้ โดยไม่มีอาการข้างเคียง เนื่องจากมีการตรวจวิจัยไม่พบสารไซยาไนด์ในหน่อไม้ไผ่หวานเลย จึงทำให้ตลาดของผู้บริโภคหน่อไม้เพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว

โอกาสของปลูกไผ่หวานขาย

เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคหน่อไม้อยู่แล้ว อีกทั้งหน่อไม้ยังเป็นส่วนประกอบหลักของเมนูอาหาร เช่นเมนูที่ขึ้นชื่อว่าหน่อไม้ อีกทั้งในปัจจุบันโอกาสปลูกเองขายเอง ทำกำไรได้ง่ายกว่าสมัยก่อนเพราะโลกโซเชียลและอินเตอร์เน็ตเข้าถึงผู้คน ทำให้ลดวงจรพ่อค้าคนกลางลงได้มาก มีโอกาสเสนอขายเองได้มากขึ้นด้วย ลูกค้าจึงมีจำนวนมากกระจายความเสี่ยงไปในตัว ใครสนใจอยากจะปลูกไผ่หวานไว้ขายหน่อ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณวรรณบดี ที่ บ้านสวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โทร. 08-3266-3096, 08-1602-4836

ขอบคุณ เกษตรกรก้าวหน้า วารสารเกษตรชั้นนำของไทย

Related Posts

This Post Has 3 Comments

  1. ผมสนใจต้นพันธไผ่หวานคับ จะนำมาปลุกรอบคันนาที่เชียงใหม่
    ต้อวดำเนินการอย่างไรบ้างคับเผื่อเปนทางเล้อกคับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *