
หญ้ารีแพร์หรือหญ้าฮี๋ยุ่ม สมุนไพรที่ช่วยให้ผู้หญิงกลับมามีสุขภาพดีหลังคลอด ตั้งแต่โบราณกาลคนไทยเรานิยมใช้สำหรับรักษาอาการอักเสบช่องคลอดสำหรับหญิงคลอดลูกใหม่ หญ้ารีแพร์หรือหญ้าฮี๋ยุ่ม สรรพคุณคือช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วและรักษาแผล ทำให้ผู้หญิงที่คลอดลูกแล้ว ช่องคลอดกลับมาฟิต กระชับ แบบว่าเหมือนสาวอีกครั้งเลยก็ว่าได้
หญ้ารีแพร์สมุนไพรเพื่อผู้หญิง กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันสำหรับนำมาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับดูแลสุขภาพของคุณผู้หญิง ใช้ในการคืนความกระชับให้กับน้องสาว และยังปลอดภัย ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง สำหรับเกษตรกรที่ปลูกหญ้ารีแพร์ ก็เป็นโอกาสสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากความนิยมของสมุนไพรชนิดนี้
วีธีการใช้หญ้าฮี๋ยุ่มหรือหญ้ารีแพร์ วิธีการที่คนโบราณใช้ก็คือ นำขอนไม้ที่ผุมาจุดไฟ แล้วเอาหญ้าฮี๋ยุ่มสดหรือแห้งก็ได้มากำใหญ่ วางบนขอนไม้ที่ก่อไฟไว้จะเกิดควันขึ้น ให้ยืนคร่อมขอนไม้ (โดยนุ่งผ้าถุงอย่างเดียว) ให้ควันของหญ้าฮี๋ยุ่มรมเข้าไปในผ้าถุงตรงบริเวณปากช่องคลอด จะทำให้คืนความกระชับ มดลูกเข้าอู่เร็ว โดยทำวันละ 2-3 ครั้ง การใช้หญ้าฮี๋ยุ่มของหญิงที่เพิ่งคลอดลูก เป็นการช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และรักษาแผลได้ด้วยตามหลักวิทยาศาสตร์ การใช้ยารมเป็นการใช้ความร้อนช่วยลดการอักเสบ และมีสรรพคุณฆ่าเชื้อโรค และหญ้าชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่ ซึ่งมีสารซิลิกาที่มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูและสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่
หญ้ารีแพร์ข้อควรระวังในการใช้ เพื่อให้ช่องคลอดกระชับ ฟิตเหมือนหญิงสาว จะต้องใช้ไอน้ำรม หรือใช้ควันรม เข้าที่ช่องคลอดเท่านั้นคนที่ใช้วิธีรมควัน ต้องระวังไม่ใช้ตัวก่อความร้อนที่สามารถลุกไหม้ได้ ควรใช้ไม้ผุจะดีที่สุดหญ้ารีแพร์ที่นำมาใช้จะต้องมีอายุมากกว่า 45 วันมีลักษณะเป็นหญ้าแดดเดียว คือไม่แห้ง และไม่ชื้นจนเกินไป ซึ่งเวลาอบนั้นควรอบครั้งละประมาณ 15 นาที อย่างไรก็ตามผู้ใช้ไม่ควรสูดดมโดยตรงเพราะ ควันจากการเผาไหม้อาจจะมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นหินเกาะปอดคนที่ใช้วิธีการรมควันนั้น ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ ปิดสนิทมิดชิด จนไม่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะมันอาจทำให้เสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนได้
การปลูกหญ้ารีแพร์ หญ้ารีแพร์สามารถปลูกและดูแลไม่ยาก โดยเริ่มจากการเตรียมดินอัตราส่วนผสม (ดิน 80 แกลบ 20 หรือใช้ดินร่วนปกติ ไม่ต้องผสมดิน) จากนั้นนำหญ้ารีแพร์ 1 ต้นใส่กระถาง หรือ ถุงดำ ตามด้วยดินที่เตรียมไว้ และนำไปวางไว้บริเวณที่ถูกแสงน้อยหรือเรือนเพาะชำที่มีสแลนบังแสงประมาณ 4-7 วัน สังเกตว่าเริ่มมีการแตกยอดใหม่ และต้นสดไม่เหี่ยว แสดงว่าใช้ได้แล้วครับ หรือจะนำออกไปลงดินก็ได้สิ่งสำคัญคือ การขยายพันธุ์ ควรใช้ต้นกล้าอ่อน หรือไม่อ่อนไม่แก่ ถ้านำต้นแก่มาขยายพันธุ์… ต้นจะตาย
เกี่ยวกับหญ้ารีแพร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Centotheca lappacea (L.) Desv. ชื่อวงศ์ Poaceae (Gramineae) ชื่ออื่น หญ้าอีเหนียว เหนียวหมา เหล็กไผ่ หรือ “ฮี๋ยุ่ม” ลักษณะการออกเสียง “ยุ่ม” (ภาษาอีสาน เสียงจะขึ้นจมูก) “ยุ้ม” (ภาษาภูไท สกลนคร นครพนม) เรื่องภาษาถิ่น ผู้อ่านลองออกเสียง “ยุม.ยุ่ม..ยุ้ม” หรือไม่ ก็ให้คน “อีสาน” คน “ภูไท” หรือ แม้กระทั่งคน “ไทย้อ ” อ่านออกเสียงให้ฟังก็ได้ ลักษณะทั่วไป หญ้าล้มลุก ลำต้นมีเหง้า ลำต้น เหนือดินสูง 60-100 เซนติเมตร ไม่มีเนื้อไม้ แผ่นใบ รูปหอก เรียงสลับ ขอบมีขนสาก ผิวใบเกลี้ยง ดอกช่อแบบแยกแขนง ออกดอกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยเรียงสลับ คำว่า “ยุ่ม” ภาษาอีสาน หมายถึง รัดเข้า บีบ รวบเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แน่นขึ้น เช่น ยุ่มปากถุงไม่ให้คลายออก
ดังนั้นสมุนไพรที่ได้ชื่อว่า หญ้าฮี๋ยุ่ม เนื่องจากคนโบราณนำมาใช้แล้ว เห็นถึงสรรพคุณของหญ้าชนิดนี้ว่าช่วยให้น้องหนูของผู้หญิงที่คลอดลูก “ยุ่ม” เข้าหากันกลับมา “กระชับ” เหมือนเดิม
หญ้ารีแพร์กับโอกาสสร้างรายได้ สำหรับเกษตรกรที่ปลูก บางกอกทูเดย์มองว่า แนวโน้มการใส่ใจดูแลสุขภาพของคนรุ่นใหม่จะหันกลับมาใช้สมุนไพรบำบัดกันมากขึ้น เพราะปลอดภัยผลข้างเคียงมีน้อย อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากสรรพคุณอื่นๆด้วย ดังนั้นแล้วหญ้ารีแพร์จึงน่าจะเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ยิ่งปลูกแบบปลอดสารได้ยิ่งดี..
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- หนังสือ “บันทึกของแผ่นดิน 7 สมุนไพรดูแลแม่หญิง” โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
- มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
Leave a Reply