เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน [กสิกรไทย]

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 36.00 มาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคต่างทยอยปรับตัวขึ้น

ภายหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณว่า จะจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ตลาดมองว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบใกล้ๆ นี้กำลังลดน้อยลง นอกจากนี้ เงินบาทและสินทรัพย์เสี่ยงได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์ จากผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบกับบัญชีกระแสรายวันส่วนเกินที่สถาบันการเงินนำมาฝากไว้ที่ BOJ

สำหรับในวันศุกร์ (29 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-35.90 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตารายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย และผลการประชุมนโยบายการเงินของธปท. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนม.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายได้ส่วนบุคคล ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนธ.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะยังให้ความสนใจกับทิศทางกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่สะท้อนจากดัชนี PMI ของหลายๆ ประเทศ (โดยเฉพาะจีน) ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1,300 จุด จากแรงหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย BOJ และราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,300.98 จุด เพิ่มขึ้น 2.60% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 3.13% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,010.58 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 508.77 จุด ลดลง 0.18% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ โดยนักลงทุนรอดูผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังว่าโอเปกและรัสเซียอาจจะปรับลดกำลังการผลิต ตลอดจนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,288 และ1,271 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,314 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานดัชนี PMI ของจีน และสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลภาคการผลิต และข้อมูลการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงาน ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ การเปิดเผยดัชนี PMI ของ ยูโรโซน

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *