8 วิธีล้างผักเพื่อลดสารพิษอย่างได้ผล: แม้ว่าผักจะมีประโยชน์และสรรพคุณมากมายทั้งทางอาหาร ทางยา แต่ทว่า ในปัจจุบันผักที่นิยมบริโภคหรือผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนส่วนใหญ่ ที่เพาะปลูกปริมาณมากนั้น จำเป็นต้องใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมากขึ้น เราจึงควรรู้วิธีเลือกผักที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงน้อยที่สุด หรือไม่ได้ฉีดพ่นเลย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ หรือเป็นการยากที่จะเลี่ยงการทานผักที่คาดว่าจะมีสารพิษสูง เช่น เช่น ผักกาดขาว หรือผักประเภทหัว ควรรู้วิธีล้างผักเพื่อลดสารพิษตกค้างดังนี้
8 วิธีล้างผัก
1. การล้างผักโดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ทิ้งไว้นาน 15 นาที จะลดปราณสารพิษได้ 90-95% เป็นวิธีที่ปลอดภัย หลังจากแช่ผักในสารละลายของโซเดียมไบคาร์บอเนตในน้ำแล้ว ควรนำผักไปล้างน้ำออกหลายๆ ครั้ง เพื่อชะเอาสารพิษตกค้างที่ผิวออกให้หมด แต่มีปัญหาว่า วิธีนี้จะทำให้วิตามินเอในผักสูญเสียไปบ้าง
2. การแช่ผักในน้ำผสมน้ำส้มสายชู ใช้น้ำส้มสายชูละลายน้ำความเข้มข้น 0.5% (น้ำส้มสายชู อสร. 1 ขวด/น้ำ 4 ลิตร) แช่ผักที่เด็ดแล้วนาน 15 นาที จะสามารถลดปริมาณสารพิษลงได้ 60-84%
3. การแช่ผักในน้ำยาล้างผัก ใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 54-68% แต่วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะน้ำยาล้างผักจะแทรกซึมเข้าไปในผักซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
4. การเปิดก๊อกน้ำให้ไหลผ่าน ผักซึ่งเด็ดเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่งเปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก ล้างนาน 2 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงลงได้ 54-63%
5. การแช่ผักในน้ำสะอาด ควรล้างผักให้สะอาดจากสิ่งสกปรกด้วยน้ำครั้งหนึ่งก่อน และเด็ดเป็นใบๆ แช่ลงในอ่าง ใช้น้ำประมาณ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ 7-33%
6. การลวกผักด้วยน้ำร้อนจะลดปริมาณสารพิษได้ 50% ส่วนการต้มจะลดได้เท่ากับการลวกผัก แต่อีก 50% มีสารพิษออกมาจากผักอยู่ในน้ำแกง
7. การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า
8. การใช้ผงปูนคลอรีนแช่ผักเพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำลายไข่พยาธิ โดยการละลายผงปูนคลอรีนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-30 นาที จะฆ่าเชื้อโรคได้ดีมาก
หรือเราสามารถเลี่ยงมาทานผักที่มีการใช้สารเคมีน้อยได้เช่น หน่อไม้ กระถิน ชะอม ตำลึง หัวปลี ยอดแค แตงร้าน สะตอ ถั่วงอก ฟักทอง บวบ ใบชะพู ผักกูด สายบัว ฯลฯ
การเลือกผัก
ควรจะพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ คือ มีสภาพสด สะอาด ไม่เหี่ยวเฉาไม่ช้ำจนเกินไป หรือไม่มีสีเหลือ ปราศจากเชื้อรา ซึ่งอาจจะมองเห็นเป็นเมือกลื่นๆ ตามใบ อย่าเลือกซื้อผักที่มีใบสวยมาก ควรมีรูพรุนบ้าง เพราะรูพรุนแสดงว่า ชาวสวนฉีดพ่นยาไม่บ่อยเกินไป ถ้าเป็นพวกผักกาด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักชีฝรั่ง ถ้าหากว่าตรงก้านของมันมีผงสีขาวๆ เทาๆ แสดงว่ามันเสีย
ผักบางชนิดสะสมสารมีพิษไว้มาก เช่น ผักกาดขาว ดังนั้นควรหลีกลี่ยงซื้อผักประเภทรับประทานหัว เพราะผักประเภทนี้จะสะสมสารมีพิษไว้มากกว่าผักกินใบ
ขอบคุณ อ้างอิงจาก doctor.or.th