เห็ดเยื่อไผ่หรือเห็ดร่างแห ราคาสูงกิโลกรัมละ 3,000-5,000บาท

เห็ดเยื่อไผ่ หรือเรียกว่า เยื่อไผ่ หรือเห็ดร่างแห ราคา 3,000-5,000 บาทต่อกิโลกรัม มากด้วยประโยชน์ นำมาทำเป็อาหาร ซุปเยื่อไผ่ แกงจืดเยื่อไผ่ เป็นส่วนผสมในยา ด้วยความเชื่อว่าสามารถลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต บำรุงร่างกายเมื่ออ่อนแอ บรรเทาโรคที่เกี่ยวกับไต ตา ปอด ตับอักเสบ หวัด ช่วยระบบขับลม ลดความอ้วน แต่จากการศึกษาและมีรายงานระบุว่า นำมาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์

เห็ดเยื่อไผ่ หรือเห็ดร่างแห

ชาวจีนนำเห็ดเยื่อไผ่ ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีแล้ว โดยจัดเป็นส่วนผสมในยา รวมถึงปรุงเป็นอาหาร เห็ดเยื่อไผ่ หรือเรียกอีกชื่อว่าเห็ดร่างแห ด้วยมีลักษณะคล้ายร่างแห ตาข่าย มีก้านคล้ายฟองน้ำ เป็นอาหารยอดนิยม โดยมักนำมาปรุงเป็นส่วนผสมในแกงจืด เรียกแกงจืดเยื่อไผ่ ลักษณะของเห็ดเยื่อไผ่ เมื่อยังอ่อนมีลักษณะก้อนกลมสีขาวคล้ายฟองไข่นก เมื่อโตขึ้นลำต้นและหมวกเห็ดจะยืดตัวแทรกออกจากเปลือก มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวๆ และเมื่อโตเต็มที่มีลักษณะเด่นคือหมวกเห็ดมีรูปร่างเหมือนตา ข่ายหรือแห หรือกระโปรงลูกไม้ของสุภาพสตรี ก้านเห็ดเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ส่วนบนสุดของดอกมักมีสีเข้ม ทำหน้าที่ผลิตสปอร์และกลิ่นที่เหม็นล่อแมลงเพื่อการขยายพันธุ์ เห็ดชนิดนี้มีหลายสี เช่น สีส้ม แดง ขาว เหลือง ชมพู มักขึ้นในป่าที่มีฝนชุกหรือป่าช่วงฤดูฝนในธรรมชาติ

เห็ดเยื่อไผ่ ประโยชน์ คุณค่าทางโภชนาการ

เห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีโปรตีน (Nx6.25) 15-18% มี กรดอะมิโนถึง 16 ชนิด จาก กรดอะมิโนที่มีทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ และกรดอะมิโน 16 ชนิดนี้ ยังเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (Essential amino acid) ถึง 7 ชนิด และมีไรโบฟลาวิน (Riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง เห็ดเยื่อไผ่ดอกตูมจะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าดอกบาน Dictyophora

สารสำคัญทางเภสัชวิทยา 

จากการสกัดสารจากเห็ดเยื่อไผ่ พบสารสำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาร์ไรด์(Polysaccharide) และสาร Dictyophorine A and B ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ได้มีการทดสอบสมบัติของสาร Dictyophorine A and B ทางเภสัชวิทยา พบว่าสารกลุ่มนี้เป็นตัวช่วยในการปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษและสามารถกระตุ้นการสร้างเซลประสาทและสมองได้ เห็ดเยื่อไผ่มีสารธรรมชาติ ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโทษและทำให้อาหารบูดเน่าได้หลายชนิด นอกจากนี้ ยังพบสารอัลลันโทอิน (Allantoin) เช่นเดียวกับที่พบในเมือกของหอยทาก

อัลลันโทอิน (Allantoin) พบว่ามีมากในเมือกหอยทาก แต่พบว่าในเมือกของเห็ดเยื่อไผ่ มีสารชนิดนี้สูงกว่าหลายเท่า จะออกฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ และการระคายเคืองของผิว ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ลดริ้วรอยและเร่งการผลิตเซลล์ผิวใหม่ และเมือกของเห็ดเยื่อไผ่ ยังอุดมไปด้วย กรดไกลโคลิค(Glycolic acid) ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินให้ความยืดหยุ่นแก่ผิว และกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ที่ช่วยลดริ้วรอย ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นได้ดี ผิวหนังกระชับ เต่งตึงได้ดีกว่า ขจัดเซลล์ที่ตายแล้ว ช่วยสร้างหนังกำพร้าที่ตายไปแล้วหลุดเป็นขี้ไคล ให้มีหนังกำพร้าใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คล้ายผิวเด็กทารก ที่สำคัญเป็นสารพฤษเคมีจากธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยสูง และไม่มีความเป็นพิษ

นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดจากเห็ดเยื่อไผ่ มีผลต่อการต้านการอักเสบ และต่อต้านการเกิดเนื้องอก และได้มีการวิจัยเห็ดชนิดนี้ในเชิงลึกพบว่า เห็ดชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูง มีโปรตีน 15-18% โดยเฉพาะน้ำตาลที่สำคัญเช่น mannitol 90.89 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวอย่างแห้ง 1 กรัม และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ทำให้เห็ดเยื่อไผ่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย

ในอดีตเป็นหนึ่งในเจ็ดของยาอายุวัฒนะที่จัดเป็นเมนูเสวยให้กับฮ่องเต้ในราชวงศ์ชิง โดยเห็ดเยื่อไผ่จะถูกส่งมาจากมณฑลยูนนาน และนำมาถวายในราชสำนัก ชาวจีนนิยมนำมาเป็นอาหารบำรุ่งร่างกาย ในตำรายาจีนกล่าวไว้ว่า ส่วนบนสุดของเห็ดเยื่อไผ่ สามารถนำไปผลิตเป็นยาบำรุงเพศของม้าได้ ช่วยให้ม้าผสมพันธุ์ได้ดีขึ้น ส่วนที่เป็นเมือกนี้ เป็นแผ่นปลอกหุ้มอยู่ด้านบนจะมีกลิ่นคาว แต่ตรงนี้ คือ ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศอย่างดีที่สุด ส่วนใหญ่มักจะเอามาหมักหรือดองเหล้าทาน เมื่อเอาส่วนนี้ออก และส่วนของปลอกหุ้มออก ก็จะเหลือส่วนที่เป็นก้านและกระโปรง เอาส่วนนี้ไปทาน และประกอบอาหารได้ เช่น การทำซุปเห็ดเยื่อไผ่
สำหรับตำรายาจีน มีการใช้เห็ดชนิดนี้เป็นยาบำรุงร่างกายเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากท้องเดิน รักษาโรคความดันโลหิตสูง และปัญหาเนื้อเยื่อมีไขมันมาก ตับอักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตา ปอด และเป็นหวัด นอกจากนี้ยังใช้ เป็นตัวป้องการการบูดเสียของอาหารจากจุลินทรีย์ (microbial spoilage) ได้

เห็ดร่างแห

ในประเทศจีนได้นำเห็ดเยื่อไผ่มาใช้ประโยชน์นานประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยนำมาเป็นส่วนผสมในยา และเป็นอาหารเพื่อช่วยลดความดันโลหิต รักษาโรคเกาต์ โรครูมาติซึม ลดคอเลสเตอรอล ลดความอ้วน และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากพบว่าในเห็ดเยื่อไผ่มีสารพอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ที่ประกอบด้วย มอนอแซคคาไรด์(monosaccharide)หลายโมเลกุลรวมตัวกัน มีโครงสร้างหลักเป็น β-D-Glucan ซึ่งสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์สำคัญในการต้านมะเร็งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด

เห็ดเยื่อไผ่สด หากรับประทานดอกที่ยังตูมอยู่ จะมีฤทธิ์หรือสรรพคุณเป็นยาโป้วสูง หากบานแล้ว หมวกดอกจะมีกลิ่นคาว เวลานำไปรับประทาน ควรแกะเอาหมวกออก แต่ตรงหมวก คือ สุดยอดของยาวโป้ว แต่ต้องนำเอาไปสลายด้วยเอ็นไซม์ด้วยการเอาไปหมักหรือดองเหล้าเสียก่อน จึงจะมีสรรพคุณที่ดี อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว เห็ดเยื่อไผ่ ถือว่าเป็นยาทุกส่วนที่ถือว่าสุดยอดมากทางด้านสร้างเซลล์ประสาท ช่วยบำรุงสมอง อันเนื่องจาก สาร Phosphatidylcholine, สาร Dictyophorine A and B และสาร Sesquiterpene ดังนั้น คนที่เป็นอัมพฤก หรืออัมพาต หรือมีอาการสมองเสื่อม ความจำเสื่อม จึงเหมาะอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างและซ่อมแซมเซลล์ประสาทเท่านั้น สารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และสาร T-5-N(B-D-glucan) ที่มีพันธะ(bond) จับกันแบบ alpha-1-3 and 1-6 linked D-mannopyranosyl residues ซึ่งมีผลช่วยยับยั้งเซลมะเร็งหลายชนิดอีกด้วย ปัจจุบัน ความต้องการเห็ดเยื่อไผ่สดมีสูงมาก ราคาเห็ดเยื่อไผ่สดในประเทศจีน มีราคาสูงกว่าเมืองไทยมาก เฉพาะเมืองกวางโจวราคาสูงกว่าเมืองไทยเกือบเท่าตัว และที่จีนเพาะได้เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น ส่วนไทยเพาะได้ทั้งปี

เห็ดเยื่อไผ่ มีข้อดีกว่าเห็ดฟาง ตรงที่ มันสามารถเก็บรักษาให้สดได้นานเป็นเดือน เมื่อไหร่อยากจะทาน ก็นำเอาเห็ดเยื่อไผ่ที่ยังเป็นดอกตูม หรือที่เรียกว่า ไข่เห็ด จากตู้เย็นมาวางให้มันบาน และด้วยความที่เราสามารถควบคุมการบานของดอกเห็ดได้ และด้วยความที่มันเจริญเติบโตเร็วมาก ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เห็ดก็จะเริ่มบาน จึงมีภัตตาคารชั้นนำของจีนนับพันๆ แห่ง จะเอาไข่เห็ดเยื่อไผ่เก็บไว้ในตู้เย็น เวลาเปิดร้าน ก็จะเอาไข่เห็ดเยื่อไผ่เอาออกมา ตอนลูกค้าเข้าร้าน ก็จะเห็นดอกเห็ดเยื่อไผ่บานสะพรั่ง และก็เอาเห็ดเยื่อไผ่สดๆปรุงอาหารให้ลูกค้าทาน กลายเป็นรายการอาหารที่กำลังได้รับความนิยมสุดๆของเศรษฐีจีนในปัจจุบัน การเลือกซื้อเห็ดเยื่อไผ่แบบแห้ง สีธรรมชาติของเห็ดเยื่อไผ่แบบแห้ง หรืออบแห้ง จะมีสีน้ำตาล แต่ที่เห็ดเยื่อไผ่แบบแห้งเป็นสีขาวนั้น เกิดจากการรมควันด้วยสารฟอกขาว เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนสีของเห็ดเยื่อไผ่ไม่ให้เป็นสีน้ำตาล โดยสารฟอกขาวที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือผู้แพ้สารนี้ จะทำให้หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงเห็ดเยื่อไผ่ที่เป็นสีขาว ควรเลือกบริโภคแบบสีน้ำตาล หรือรับประทานแบบสด จะได้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า และปลอดภัยกว่า

เห็ดเยื่อไผ่ ขยายพันธุ์โดยสปอร์ซึ่งมีแมลงเป็น ตัวช่วย แต่ก็มีการเพาะเลี้ยงทั่วไปเพื่อการค้า เช่น ในประเทศจีนมีการเพาะเลี้ยง 2 ชนิด คือ ชนิดกระโปรงยาวสีขาว และกระโปรงสีแดง โดยเพาะเลี้ยงกันมานานมากกว่า 50 ปีแล้ว มีราคากิโลกรัมละประมาณ 3,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเห็ด บางแห่งเพาะเลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บ ใช้เวลาประมาณ 60 วัน เห็ดชนิดนี้มีหลายชื่อ เช่น ประเทศไทยเรียกเห็ดร่างแห เห็ดเยื่อไผ่ เยื่อไผ่ ภาคอีสานเรียกเห็ดคางแห เพราะหมวกเห็ดคล้ายแหจับปลา ส่วนต่างประเทศมีหลายชื่อเช่นกัน ทั้ง Bamboo mushroom, Long net stinkhorn, Basket stinkhorn, Veiled lady, King of mushroom, Netted stinkhorn, Dancing mushroom ที่มาของชื่อน่าสนใจเพราะตั้งตามลักษณะเด่น เช่น เห็ดเต้นรำ (Dancing mushroom) ที่มาจากการสังเกตตรงส่วนที่เป็นหมวกเห็ดมีลักษณะคล้ายกระโปรงลูกไม้ดังกล่าว เมื่อโดนลมพัดดูไปคล้ายผู้หญิงเต้นระบำ หรือในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า เห็ดราชา (King of mushroom) ส่วนที่ใช้คำว่า เจ้าแตรเหม็น “stinkhorn”ต่อท้ายชื่อ เพราะตรงส่วนบนสุดของเห็ดเป็นแหล่งผลิตสปอร์และมีกลิ่นเหม็นเพราะต้องการล่อแมลงให้มาดูดกินเพื่อการขยายพันธุ์ ดังที่บอกมาแล้ว

ในประเทศจีนมีเห็ดชนิดนี้ 9 ชนิด รับประทานได้เพียง 4 ชนิด ขณะที่ในประเทศไทย ภาคอีสานพบ 4 ชนิด คือเห็ดกระโปรงยาว สีขาว กระโปรงสั้นสีขาว กระโปรงสีส้ม และกระโปรงสีแดง ที่นิยมนำมารับประทานคือชนิดกระโปรงยาวสีขาวและกระโปรงสั้นสีขาว สำหรับสารอาหาร ประเทศที่จำหน่ายเห็ดระบุว่า เห็ดเยื่อไผ่แห้งจำนวน 100 กรัม ประกอบด้วยโปรตีน 26.3 กรัม ไขมัน 4.2 กรัม คาร์โบ ไฮเดรต 44.9 กรัม กาก 6.4 กรัม กรดอะมิโน 16 ชนิด และวิตามินอีกหลายชนิด

เมื่อเห็ดเยื่อไผ่ หรือเห็ดร่างแห มีราคาสูงและมีประโยชน์แบบนี้ ท่านใดสนใจก็ลองค้นคว้าหาข้อมูลการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เพิ่มเติม ไม่แน่ว่าอาจจะทำสำเร็จสร้างรายได้งามๆ ยิ่งดี ยิ่งทำยาก หายาก ยิ่งแพง ใครทำได้รวย!!

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เห็ดเยื่อไผ่ เห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญของไทย, ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส(เห็ด) องค์การสหประชาชาติ, www.anonbiotec.com
บทความมติชนสุดสัปดาห์ เยื่อไผ่ คือ เห็ดอาหารสมุนไพร
ภาพจาก http://board.postjung.com/640739.html

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *