สศค.หั่นจีดีพีไทยอีกรอบเหลือ 3.7% กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.75%ต่อปี

สศค.หั่นจีดีพีไทยอีกรอบเหลือ 3.7% กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 0.25%  เหลือ 1.75% ต่อปี นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.5% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้มากขึ้นและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอต่ำกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ปี 2558  นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยประเทศคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลงรวมทั้งแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ธปท.จะปรับลดประมาณการจีดีพี การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ  ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนเม.ย.2558 คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.7% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.2-4.2% ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัว 0.7% ต่อปี แต่ขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการ 3.9% ทั้งนี้การขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2%  การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ มีสาเหตุหลักจากการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 29.4 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 18.6%  นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 ประกอบกับโครงการลงทุนที่มีความชัดเจน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง จะเป็นแรงกระตุ้นให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี รวมถึงการทำงบประมาณปี 2559 ที่มีงบลงทุนสูงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย

ขอบคุณ ที่มา ข่าวสด

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *