สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดสัมมนาหัวข้อ “สร้างสรรค์เกษตรไทย ก้าวไกลอย่างสมาร์ท” โดยมีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และตัวแทนจากบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ร่วมแบ่งปันบทเรียนและชี้แนะว่าภาคเกษตรไทยจะพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยดีขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาภาคเกษตรต้องแก้ที่ปัญหาของเกษตรกร คือตัวเกษตรกรต้องมาพูดข้อเท็จจริงกัน ที่ภาคอุตสาหกรรมเติบโตนั้นก็สร้างตัวมาจากธุรกิจเล็ก ๆ ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือรายได้ต่ำ เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เมื่อได้เงินจากการขายผลผลิตแล้วจะต้องนำรายได้มาใช้หนี้เก่าที่กู้ยืมมาซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซึ่งต้องซื้อใหม่ทุกปี รวมถึงค่าครองชีพด้วย หากผลผลิตในครั้งต่อ ๆ ไปทำเงินได้ไม่ดี เกษตรกรก็จะต้องกู้หนี้ยาวขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกษตรกรพึ่งตัวเองไม่ได้ และการที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือไม่ตรงจุดจะไม่สามารถช่วยอะไรได้
จังหวัดที่จนที่สุดและจังหวัดที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยมีช่องว่างที่ห่างกันถึง 40 เท่า เป็นช่องว่างที่ห่างกันเกินไป ในจังหวัดที่ยากจนประชากรส่วนใหญ่จะทำอาชีพเกษตรล้วน ๆ ถ้าเกษตรกรของไทยพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรไม่ได้จะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้
อุปทานของภาคเกษตรมีมาก ไทยสามารถเป็นครัวของโลกได้ แต่ครัวของเราจะเป็นครัวแบบไหน จะเป็นร้านอาหารในโรงแรมเกรดดี ราคาจานละเป็นพันบาท หรือร้านอาหารริมถนนที่จานละไม่กี่บาท เราจะต้องวางตำแหน่งการเกษตรของเราว่าจะเป็นแบบไหน ปัจจุบันค่าครองชีพของเกษตรกรสูง แต่เกษตรกรขายสินค้าในราคาแบบร้านแผงลอย ฉะนั้นการเป็นครัวของโลกต้องเป็นระดับร้านอาหาร/ภัตตาคารจึงจะไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ต้นทุนสูงแต่ขายราคาถูก
สำหรับภาคเกษตรของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ในปี 2554 มูลค่าภาคเกษตรต่อจีดีพีของอินโดนีเซียอยู่ที่ 14.7% มาเลเซีย 12% ไทย 12.3% และในปี 2555 ไทยลดลงเหลือ 8.7% ถือว่ายังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ แต่พิจารณาจากสัดส่วนการใช้กำลังคน ในปี 2554 ไทยใช้กำลังแรงงานคนถึง 40.7% แต่มีรายได้เพียง 8-12% เท่านั้น เทียบกับมาเลเซียซึ่งมีมูลค่าเกษตรต่อจีดีพีเท่ากับไทยแล้ว มาเลเซียใช้กำลังแรงงานเพียงแค่ 13% เท่านั้น หมายความว่ามูลค่าผลิตได้เท่าเดิม แต่ใช้กำลังคนน้อยลงกว่าไทยมาก
ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วที่ยังให้ความสำคัญกับการเกษตร จะมีรายได้ภาคเกษตรน้อย แต่ก็ใช้กำลังคนในภาคเกษตรน้อยตามด้วย เพราะเป็นเกษตรเทคโนโลยีและเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องมือ ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร ยกระดับการแปรรูปสินค้าเกษตร ยกระดับวิสาหกิจชุมชน เห็นได้จากสินค้าเกษตรบางชนิดที่ราคาดี จะไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภค เช่น มันสำปะหลัง
ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถอยู่อย่างโดด ๆ ได้ ต้องนำระบบอุตสาหกรรมเข้าไปใช้ ต้องใช้ระบบห่วงโซ่อุปทาน รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องตลาด และข่าวสารที่ต้องเผยแพร่ให้ทั่วถึง กระทรวงเกษตรฯจะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ เกษตรจังหวัดจะเน้นดูแลเรื่องการผลิตอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องดูแลเรื่องการเชื่อมโยงกับการตลาดและพันธุ์ด้วยว่าจะทำอย่างไร และไม่ควรมองข้ามเรื่องเกษตรจีเอ็มโอ เนื่องจากประเทศเกษตรกรรมอื่น ๆ เช่น อเมริกา เวียดนาม และอิสราเอล ได้พัฒนาการดัดแปลงพันธุกรรมพืชและสัตว์ เทคโนโลยีเกษตรเปลี่ยนไปแล้ว ไทยจึงควรหาวิธีการทำความเข้าใจกับเกษตรกรหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กับการทำการเกษตรของไทย โดยที่ไม่กระทบพันธุ์พื้นเมือง นอกจากนี้ก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หากพิจารณาแล้วว่าสินค้าเกษตรชนิดไหนที่เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้ ควรตั้งกำแพงปิดล้อมสินค้าเกษตรไว้
นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรถึง 9,000 ล้านคน นี่คือโอกาสของภาคการเกษตร ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรลดลงตลอดเวลา และอาเซียนกำลังจะรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน ฉะนั้นศักยภาพในการรวมตัวจะเกิดขึ้น ถ้าหากเราเตรียมตัวและปรับศักยภาพให้ดีในการที่จะเป็นผู้ร่วมค้า ผู้ร่วมดำเนินกิจกรรม จะเป็นแนวทางทำให้ภูมิภาคนี้เป็นที่สนใจของภูมิภาคอื่น ๆ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าห่วงคือขณะนี้ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ภาคการเกษตรแล้ว
สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรยากจน เพราะการทำเกษตรขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ จึงต้องหาวิธีให้การเกษตรของเราเป็นการทำในโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันการทำประมงและปศุสัตว์ได้เปลี่ยนไปเป็นระบบปิดกันเกือบหมดแล้ว ลดปัญหาการผลิตที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศลดน้อยลง พืชสวนหลายชนิดสามารถผลิตในโรงเรือนได้ แต่พืชอีกหลายชนิดอย่างพืชไร่ หรือไม้ยืนต้น ยังคงต้องต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศอยู่ ต้องคิดหาวิธีต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะเอาชนะธรรมชาติได้
นอกจากนี้ ต้องคิดเรื่องการพัฒนาพลังงาน ผลิตพืชพลังงานลดการนำเข้า สิ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ได้แก่
1.นวัตกรรมที่ดีทางการเกษตร
2.ข้อมูลข่าวสาร
3.แหล่งเงินทุน
4.การจัดการ
5.การตลาดประเทศไทยต้องหันมาคิดว่าสินค้าตัวไหนควรผลิตและเลิกผลิต ต้องเลิกผลิตสินค้าราคาถูก
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์