CHOW เผย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นโครงการ 3 (ไซโตะ) ขนาด 2.388 เมกะวัตต์ (DC) ก่อสร้างแล้วเสร็จ เตรียม COD เร็วๆ นี้ หนุนรับรู้รายได้เพิ่มเป็น 9.6674 เมกะวัตต์ หลังโครงการ1-2 รับรู้รายได้แล้ว 7.2794 เมกะวัตต์ “อนาวิล จิรธรรมศิริ” CEO เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ ระบุ ที่เหลือ 8.3326 เมกะวัตต์ พร้อมรับรู้รายได้ในปีนี้ ส่งสัญญาณพร้อมลุยเฟส 2 ต่อเนื่อง
นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CE) บริษัทย่อยที่ดูแลธุรกิจพลังงาน ในเครือบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) เฟสแรกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลงทุนผ่านบริษัทย่อย มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 18 เมกะวัตต์ว่า ขณนี้โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์โครงการไซโตะ ขนาดกำลังการผลิต 2.388 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดมิยะซะกิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นโครงการที่ 3 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบเพื่อเชื่อมสายส่งไฟกับการไฟฟ้าญี่ปุ่น คาดพร้อมเชื่อมต่อสายส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเร็วๆ นี้ และจะรับรู้รายได้ทันที ซึ่งจะทำให้ CHOW มีโครงการโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์จำนวน 9.6674 เมกะวัตต์ จากการลงทุนเฟสแรกจำนวน 18 เมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไซโตะ ถือเป็นโครงการที่ 3 ของ CHOW ที่จะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงไฟฟ้าโครงการเกียวแทงโก (Kyotango) กำลังการผลิต 4.019 เมกะวัตต์ (DC) ตั้งอยู่ที่เกียวโตประเทศญี่ปุ่น และโครงการโออิตะ (Oita) ขนาดกำลังการผลิต 3.2604 เมกกะวัตต์ ได้จ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ไปเรียบร้อยแล้ว จากการลงทุนเฟสแรกจำนวน 18 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 8.3326 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง และจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558 ตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นขนาด 18 เมกะวัตต์ บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พัฒนาโครงการอย่างครบวงจรทั้งการจัดหาที่ดิน ใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ และการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 18 เมกะวัตต์ มีใบอนุญาตขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่การไฟฟ้าฯ ของประเทศญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ที่ราคา 40 เยนต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี
นายอนาวิลกล่าวอีกว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มตัวหลังจากพบว่ายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากโครงการพลังงานทดแทนอีกเป็นจำนวนมาก และบริษัทฯ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่นใน 3 รูปแบบ คือลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย โดยเริ่มเฟสแรกที่ขนาด 18 เมกะวัตต์ดังกล่าว ส่วนรูปแบบที่สองพัฒนาโครงการเพื่อขายให้กับพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 150 เมกะวัตต์ และลงทุนร่วมกันพันธมิตรจำนวน 40 เมกะวัตต์ และในปีนี้มีนโยบายจะขยายการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนด้วยตัวเองในเฟส 2 หลังจากที่เฟสแรกเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟแล้ว