แบงก์หวั่นธุรกิจเกษตรเสี่ยงปล่อยกู้ นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจที่ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อคือ ภาคเกษตร เพราะราคาพืชผลการเกษตรยังตกต่ำมีผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนและการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัวลง รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคเกษตรจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการอสังหาริมทรัพย์ของรัฐนั้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นธุรกิจชั่วคราว
แต่หลังจากสิ้นสุดมาตรการไปแล้วจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอีก สำหรับเศรษฐกิจปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 3% โดยได้รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย คาดว่าสินเชื่อปี 59 เติบโต 10-15%มาจากสินเชื่อรายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ จากปีนี้สินเชื่อโต 10% และในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาเติบโตได้แล้วประมาณ 7% จากเอสเอ็มอีและรายใหญ่ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลสิ้นปีนี้อยู่ที่ 4% และปีหน้าจะคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 3.5% นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจเอสเอ็มอีในปีหน้าคือปัญหาภัยแล้งจะกระทบกับเกษตรกรและปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้นต้องดูว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างไรบ้างในช่วงปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ซึ่งหากเกิดปัญหาอาจทำให้ความต้องการสินเชื่อภาคเกษตรลดลง สำหรับความคืบหน้า ลูกค้าเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนวงเงินเกินเป้าหมายที่วางไว้ 20,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งกระจายในทุกกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ตลอดอายุสัญญา 7 ปีทำให้ความต้องการสินเชื่อมีปริมาณมาก โดยได้แจ้งให้ลูกค้าได้รับทราบว่าอาจมีบางรายที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการนี้คือใครยื่นขอกู้ก่อนได้ก่อน ขณะที่ยอดอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลนและเบิกใช้ในระบบธนาคารพาณิชย์ประมาณ 50,000 ล้านบาท คาดว่าวงเงินปล่อยกู้ที่รัฐตั้งไว้ 100,000 ล้านบาทจะหมดภายในเดือนพ.ย.นี้
อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/economic/360702