[ก่อนลงทุน]ข้อพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

[ก่อนลงทุน]ข้อพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่มีคนทำตลาดและมีคนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว มีระบบที่สามารถทำตามแล้วโอกาสมีกำไรสูงกว่าที่เราจะต้องมาเริ่มลองผิดลองถูกหรือสร้างระบบธุรกิจของตัวเองขึ้นมาใหม่ แล้วเราจะมีหลักในการพิจารณาเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไร เมื่อซื้อมาทำธุรกิจแล้ว จึงจะมีโอกาสมีกำไรสูงกว่าโอกาสขาดทุน เพราะปัจจุบัน มีแฟรนไชส์ที่แข่งขันกันเยอะมากในแต่ละธุรกิจแต่ละตลาด

ดังนั้นบางกอกทูเดย์เรามีเหตุผลแง่คิดมุมมองดีๆมาฝากท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่ต้องการได้แฟรนไชส์ดีดีมาลงทุน และสามารถทำแล้วมีกำไร ธุรกิจเติบโต และสามารถแข่งขันอย่างยั่งยืนได้

ข้อพิจารณาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ 

1. ต้องชอบหรือมีใจรักในธุรกิจ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจทำมัน เพราะถ้าคุณชอบในธุรกิจนั้นๆแล้วจะทำให้ทุ่มเทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยทีเดียว แล้วค่อยๆหาข้อมูลแฟรนไชส์ในธุรกิจที่ต้องการ ถ้าขาดข้อนี้แล้วทุกอย่างต่อจากนี้มันจะยุ่งยากในความคิดของคุณเสมอ

2. ศึกษาจุดเด่นของธุรกิจแฟรนไชส์ ที่สนใจลงทุนอย่างละเอียด สอบถามจากทางผู้ขายแฟรนไชส์ ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ โดยการออกพื้นที่ไปดูที่ร้านด้วยตัวเอง สอบถามจากคนรู้จักที่ใช้สินค้าและบริการหลายๆคนเท่าที่ทำได้ ไม่ต้องใจร้อนรีบเปิดหากคุณยังไม่มั่นใจ เข้าใจธุรกิจในเบื้องต้น ประกอบกับการมองหาทำเลดีๆไปด้วยสำหรับเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ ดูให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะเมื่อคุณลงทุนทำร้านหรือธุรกิจไปแล้ว มันเปลี่ยนยาก และจะทำให้ขาดทุนได้ แนะนำเรื่องการพิจารณาเลือกแฟรนไชส์เบื้องต้นดังนี้

2.1 ดูวิสัยทัศน์ บริษัท รวมถึงภาพรวมบริษัทแฟรนไชส์ (Franchisor)  รวมถึงชื่อเสียงผู้บริหาร อาจจะติดตามได้จากข่าวสารต่างๆ ทั้งวารสาร เว็บข่าว เว็บไซต์บริษัท หนังสือพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่าเป็นย่างไรบ้าง มีกิจกรรมทางธุรกิจต่อเนื่องหรือไม่ หรือมีเรื่องเสียหายอะไรบ้าง รวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะปัจจุบันผู้บริโภครับรู้ข่าวสารตอบโต้ได้รวดเร็ว ถือได้เลยว่า โลกยุคปัจจุบันผู้บริโภคมีบทบาทในการสร้างแบรนด์มาก

2.2 การสนับสนุน การโฆษณา การสร้างแบรนด์ ว่าบริษัทที่เป็น แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) ทุ่มเทมากน้อยแค่ไหน เพราะหมายถึงการอยู่รอดและสามารถแข่งขันในระยะยาว ซึ่งในบ้านเราจะเห็นว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง คนรู้จักมั่นใจในสินค้าและบริการ ค่อนข้างจะมีราคาสูง พร้อมกับสมเหตุสมผลกับระบบต่างๆ ที่ได้รับ  ทำให้โอกาสมีกำไรในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าแฟรนไชส์ราคาถูกที่จะเน้นแต่ขยายสาขา เพื่อขายสินค้าหรืออุปกรณ์เพียงอย่างเดียว โดยขายการสนับสนุนและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องให้เหมาะสมกับงบลงทุนและความต้องการผลตอบแทนของผู้ลงทุนเอง เพราะแต่ละคนมีความต้องการผลตอบแทนและรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน

2.3 เงื่อนไข ค่าใช้จ่ายๆ ต้องดูให้ละเอียด เช่นเรื่องการต่อสัญญา การลงทุนปรับเปลี่ยน ตกแต่งร้าน จะต้องทำเมื่อไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะบางธุรกิจที่อาศัยร้านในการทำยอด เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบร้านให้ทันสมัย ใหม่ เสมอๆ ตรงนี้ต้องดูรายละเอียดให้เข้าใจว่าบังคับหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่ทำตามหรือทำไม่ได้ อาจจะต้องเลิกธุรกิจแฟรนไชส์ไป ซึ่งจุดนี้ทำให้หลายๆคนที่ทำธุรกิจคืนทุนแล้ว กำลังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ ต้องมาลงทุนเพิ่มเรื่อยๆแบบนี้คงไม่ดีต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์แน่ๆ

3. พิจารณาปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆที่จะทำให้คุณขาดทุน ทั้งตัวธุรกิจ ทำเล และองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ไม่ควรพิจารณาคำนวณเอาแต่กำไรอย่างเดียว ถ้าหากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดคุณจะขาดทุนประมาณเท่าไหร่ จะได้คำนวณเงินลงทุนในการดำเนินธุรกิจไม่ให้ขัดสนติดขัดได้ ถ้าหากตึงเกินไปคงไม่ดีแน่ๆ จะโทษโชคชะตาไม่ได้

จากข้อคิดพิจารณานี้ เป็นหลักการเบื้องต้น ที่จะช่วยกรองธุรกิจ เพิ่มแง่คิดอีกมุมมอง สำหรับว่าที่เถ้าแก่เจ้าของธุรกิจคนใหม่ หรือคนเก่าที่ยังศึกษาหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อน ว่าจะเลือกธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไร แต่ท้ายสุดแล้วความสำเร็จในธุรกิจย่อมมาจากการลงมือทำอย่างทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจ ไม่มีธุรกิจแฟรนไชส์อะไรที่มีระบบทำให้คนซื้อไปลงทุนสำเร็จมีกำไร 100% มันเป็นเพียงแต่ระบบที่ได้มีการพิสูจน์ว่ามีคนนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ขอบคุณภาพจาก canadaone.com

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *