การทำประกันอัคคีภัยของผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างไฟไหม้กับตัวอาคาร ห้างร้าน เมื่อเกิดขึ้นแล้วความเสียหายก็ตามาอย่างใหญ่หลวงได้ การทำประกันอัคคีภัยจึงเป็นทางเลือกในการประกันความเสี่ยง ดังนั้นแล้วผู้ประกอบการเองต้องวางแผนการทำประกันอัคคีภัยอย่างรอบคอบเพราะถ้าเกิดไฟไหม้กับอาคารหรือห้างร้านธุรกิจของเราจะได้ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งกับทางบริษัทประกัน แล้วทรัพย์สินอะไรที่สามารถทำประกันอัคคีภัยได้ไปดูกันเลยครับ
ทรัพย์สินที่สามารถทำประกันอัคคีภัยได้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. สิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด สำหรับอยู่อาศัย โรงรถและอาคารย่อย เช่น เรือนคนใช้ เรือนครัว กำแพง รั้ว ประตู รวมทั้งส่วนปรับปรุงต่อเติม ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม
2. ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัยของผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลซึ่งตามปกติพักอาศัยอยู่กับผู้เอาประกันภัย
นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในการทำประกันอัคคีภัย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆบางกอกทูเดย์เราเลยนำบทความความรู้เรื่องการทำประกันอัคคีภัยสำหรับเจ้าของธุรกิจมาฝาก ซึ่งได้ใจความสาระดีมากๆเข้าใจง่ายด้วย เขียนโดย คุณ นิชฌานี ฉันทศาสตร์ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย เรื่อง….
3 เรื่องน่ารู้ในการทำประกันอัคคีภัยของผู้ประกอบการ
เมื่อกล่าวถึงการประกันภัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลายควรทำ ส่วนใหญ่จะทำประกันอัคคีภัยหรือประกันไฟไหม้ แต่มักซื้อความคุ้มครองภัยจากไฟไหม้เฉพาะตัวอาคาร และโรงงาน ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ สินค้าที่อยู่ภายในอาคารหรือโรงงาน กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกันมากนัก เนื่องจากมองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่สูงโดยสามารถบริหารจัดการด้วยเงินทุนของตนเองได้ หรือเข้าใจผิดว่า ประกันอัคคีภัยที่ทำเพื่อคุ้มครองอาคารหรือโรงงาน ครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารหรือโรงงานนั้นด้วย ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นกับตัวอาคาร โรงงาน รวมถึงทรัพย์สินในอาคาร บ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการไม่ได้การชดเชยจากทรัพย์สินที่เสียหาย จึงเกิดข้อโต้แย้งระหว่างผู้ประกอบการกับบริษัทประกันภัย ดังนั้น เพื่อป้องกันหรือลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ขอแนะนำแนวทางการทำประกันอัคคีภัยสำหรับผู้ประกอบการ 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1.ทำประกันให้ครอบคลุม ทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการควรทำประกันอัคคีภัย ได้แก่
สิ่งปลูกสร้าง หรือตัวอาคาร หรือโรงงาน รวมส่วนต่อเติมอาคาร แต่ไม่รวมฐานรากและราคาที่ดิน
ทรัพย์สินภายใน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง อุปกรณ์สำนักงาน ของใช้หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องจักร เช่น เครื่องจักรเพื่อการผลิตต่างๆ เครื่องพิมพ์ สายพานลำเลียงวัตถุดิบ
สต็อกสินค้า เช่น สินค้าที่เก็บไว้เพื่อขาย
ผู้ประกอบการควรทำประกันอัคคีภัยให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งหมด เพราะหากผู้ประกอบการทำประกันคุ้มครองเฉพาะตัวอาคารหรือโรงงาน เมื่อเกิดความเสียหาย จะได้รับความคุ้มครองหรือเงินชดเชยเฉพาะอาคารหรือโรงงานที่ทำประกันไว้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ซื้อประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองอาคารหรือโรงงานด้วยทุนประกัน 30 ล้านบาท แต่ภายในอาคารหรือโรงงานนั้น มีทรัพย์สิน เช่น เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ สินค้า รวมมูลค่า 70 ล้านบาท กรณีที่เกิดไฟไหม้โรงงานเสียหายทั้งหมด โดยมูลค่าความเสียหายทั้งตัวอาคารหรือโรงงาน และทรัพย์สินรวม 100 ล้านบาท ผู้ประกอบการจะได้รับการชดเชยจากบริษัทประกันภัยเพียง 30 ล้านบาทเท่านั้น และยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินด้วยตนเองอีกด้วย
2. ทำประกันให้เต็มมูลค่าทรัพย์สิน ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในเรื่องของทุนประกัน เพราะหากเกิดเหตุแล้ว เมื่อประเมินทรัพย์สินที่ทำประกันแล้วมีมูลค่าที่สูงกว่าทุนที่ทำประกัน จะทำให้การพิจารณาจ่ายเงินชดเชยจะจ่ายตามสัดส่วนเฉลี่ย คำนวณจาก
มูลค่าความเสียหาย x มูลค่าที่ทำประกัน / มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง
ยกตัวอย่างเช่น ทรัพย์สินทั้งหมดที่ทำประกันมีมูลค่า 100 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการทำประกันทรัพย์สินไว้เพียง 60 ล้านบาท หากเกิดเหตุเสียหาย เมื่อประเมินมูลค่าแล้วเป็น 20 ล้านบาท ซึ่งพบว่าทรัพย์สินทั้งหมดมีมูลค่า 100 ล้านบาท เมื่อจะจ่ายค่าเสียหายจะต้องคำนวณเฉลี่ยตามหลักประกันภัย ซึ่งจะได้รับเงินค่าเสียหาย เท่ากับ 20 x 60 / 100 = 12 ล้านบาทเท่านั้น
3.ทำประกันเมื่อทรัพย์สินมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการควรแจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อทำประกันเพิ่มทุกครั้งเมื่อมีการซื้อเครื่องจักรเพิ่ม หรือสร้างอาคารเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่ง หากมีการเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง หรือสต็อกสินค้า จากอาคารที่เก็บรักษาเดิมไปเก็บที่อาคารใหม่ ควรแจ้งให้บริษัทประกันทราบเพื่อบันทึกในกรมธรรม์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
การทำประกันอัคคีภัยให้กับธุรกิจนับว่ามีความสำคัญมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดของเงื่อนไขกรมธรรม์ให้เข้าใจ โดยเฉพาะข้อยกเว้น หรือภัยเพิ่มพิเศษต่างๆ ก่อนที่จะซื้อแบบประกันภัยที่เหมาะสม และควรทำความคุ้มครองหรือทุนประกันเต็มจำนวนมูลค่าทรัพย์สินหรือใกล้เคียงมูลค่าที่แท้จริงในระดับที่บริษัทประกันภัยจะสามารถรับประกันภัยได้มากที่สุด เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นจะได้รับการชดเชยตามมูลค่าจริงของทรัพย์สิน ไม่ต้องนำเงินทุนของตนเองออกมาฟื้นฟูความเสียหายและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณ k-expert.askkbank.com ภาพจาก 3aw.com.au