จะทำการตลาดกับคนรุ่น Gen-Y อย่างไร จึงไม่ตกเทรนด์

จะทำการตลาดกับคนรุ่น Gen-Y อย่างไร จึงไม่ตกเทรนด์

จะทำการตลาดกับคนรุ่น Gen-Y อย่างไร   Gen-Y  (Generation Y) คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2543 เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์-อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที เป็นกลุ่มคนที่ชอบใช้เทคโนโลยี มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเกือบตลอดเวลาก็ว่าได้ ชอบอิสระ ชอบการแสดงออกและการยอมรับ ที่สำคัญยังพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆไม่ชอบการยึดติด เอาแบบง่ายๆว่ามีความมั่นใจในตัวเองรักอิสระ บางกอกทูเดย์เราจึงนำข่าวและบทความดีๆมาฝากอีกเช่นเคย  ซึ่งมีข่าวน่าสนใจมากๆ เรื่อง การตลาดยุค “โฟโม่” รับมือ Gen-Y กลัว “ตกเทรนด์” จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

การตลาดยุค “โฟโม่” รับมือ Gen-Y กลัว “ตกเทรนด์”

เคยไหม ที่มีอาการจับจ้องโทรศัพท์และหยิบขึ้นมา ๆ ดูอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะไม่มีเสียงเรียกเข้า หรือใครติดต่อมาก็ตาม หรือการต่อแถวเข้าคิวยาว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ใหม่ ๆ เพราะไม่ต้องการพลาดหรือตกเทรนด์ที่เกิดขึ้น

ถ้าใช่ คุณกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ FOMO Marketing Era เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในเวลานี้

“อนุวัตร เฉลิมไชย” นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนในสังคมสมัยนี้ ผ่านงาน Marketing Day 2013 ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเสพสื่อหลายช่องทางและสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งเรียกอาการดังกล่าวว่า โฟโม่ หรือ FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out

“ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีมานานแล้วที่เรียกว่ากลัวตกกระแสตกเทรนด์ ตกข่าว ตามคนอื่นไม่ทัน หรือเชยก็ว่าได้ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้นกับคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยใหม่นี้ ทั้งกลุ่มเจนวายและเจนแซด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเจนวาย ถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างมาก เพราะพฤติกรรมคนกลุ่มนี้มี “ดีไวซ์” ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต ติดมือตลอดเวลา ดังนั้น การจะดึงความสนใจออกมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“ดั่งใจถวิล อนันตชัย” นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มนี้มีชื่อเรียกหลากหลาย บ้างเรียกโฟโม่, มิลเลนเนียม, เจนเอ็กซ์, เจนซี, เจนมี

“รุ่นเบบี้บูมเมอร์ทำงานหนัก รุ่นเจนเอ็กซ์เป็นยุคเริ่มต้นเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ ทำงานและพักด้วย แต่เจนมี หรือ Me Generation อายุน้อยกว่า 32 ปี มองว่า ทำงาน ชีวิต การเล่น สามารถผสมผสานกันได้ และใช้สมาร์ทโฟนโพสต์โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงตัวตน และต้องการให้มีคนติดตาม จึงต้องการดูดีตลอดเวลา”

เธอยกตัวอย่างผลวิจัยของสมาคมวิจัยตลาดใน 9 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ในกลุ่มอายุ 15-69 ปี พบว่า กลุ่มคน “เจนมี” ในไทยมองว่า การชิงโชคเป็นแคมเปญน่าสนุก แต่ไม่แฟร์ โอกาสได้น้อย แต่ชื่นชอบโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1, นิยมซื้อสินค้าออนไลน์กลุ่มแฟชั่น และความงาม, ไม่ยึดติดเพย์ทีวีหรือฟรีทีวี, ไม่สามารถตัดขาดจากสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูล และติดต่อกับคนอื่น

“การสร้างแบรนด์สมัยใหม่จึงไม่ใช่สร้างเพื่อแบรนด์ของเราเอง แต่สร้างเพื่อให้ผู้บริโภคมีเพอร์ซั่นนอลแบรนด์ และเขาจะพูดถึงแบรนด์ของเราเอง ทำให้เกิดการนำเอาข้อมูลของเราไปคอนเน็กต์กัน และเกิดการแชร์กัน”

เมื่อเทรนด์เหล่านี้กำลังมา นายกสมาคมวิจัยฯระบุว่า โจทย์ของนักการตลาดคือพัฒนาแคมเปญการตลาด สร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ อาทิ ใช้อีโมชั่นนอลคอนเน็กชั่นสร้างความตื่นเต้นให้กับแบรนด์สินค้า ทำให้แบรนด์ครองใจและเป็นที่สะดุดตาของคนกลุ่มนี้ให้ได้ หรือการทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือแพร่กระจายข้อมูลออกไป

หลาย ๆ แบรนด์จากทั่วโลกได้นำเอากระแสโฟโม่มาใช้ในการทำแคมเปญทางการตลาด เพราะไม่อยากให้ผู้บริโภคพลาดอีเวนต์ หรือแคมเปญจากเทรนด์ทั่วโลกมาสู่เมืองไทย ยกตัวอย่าง แคมเปญการตลาดที่ได้รับความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ที่มีแนวคิดเรื่องของโฟโม่ และการใช้กลยุทธ์สื่อสารรูปแบบใหม่นี้เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ ทั้งเจนวายและแซด อาทิ ไอศกรีมแม็กนั่ม ที่มีการรีลอนซ์และสร้างกระแสให้กับตัวสินค้า แม้ว่าจะจำหน่ายในราคาแท่งละ 40 บาท แต่ก็กลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบเซเลบด้วยการหาซื้อไอศกรีมและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก หรือต่อคิวเข้าร้านแม็กนั่มคาเฟ่

อีกตัวอย่างประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ก็คือพี่มากพระโขนง ครองใจผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย รวมถึงกระแสของละครฮอร์โมน เป็นอีกตัวอย่างที่มีอินโนเวทีฟในเชิงโปรดักต์ การตลาด และการสื่อสาร ซึ่งละครไม่ได้ออกอากาศตามช่องฟรีทีวี แต่กลุ่มโฟโม่ก็พยายามหาวิธีรับชม เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ จะเห็นว่าทุกแวดวง ทั้งการสื่อสาร ธนาคาร อีคอมเมิร์ซ และบันเทิง ต่างก็ปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

“จินา โอสถศิลป์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไทหับ จำกัด กล่าวว่า ก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉาย ได้วางแนวทางการตลาดอย่างชัดเจน ด้วยการปล่อยทีเซอร์ผ่านออนไลน์ ตามด้วยกิจกรรมร่วมระหว่างเข้าฉาย เช่น กิจกรรมตั๋วยาวมีรางวัล

“ทีเซอร์ออนไลน์มีหลายเวอร์ชั่น ต้องปล่อยตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าปล่อยเร็ว ผู้ชมก็เบื่อเร็ว จึงต้องมีหลายเวอร์ชั่นดึงความสนใจ จนเกิดการแชร์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือจีทีเอชได้กลุ่มเป้าหมายที่โตขึ้น ทั้งคนทำงาน ครอบครัว จากเดิมเป็นกลุ่มวัยรุ่น”

อีคอมเมิร์ซเป็นอีกธุรกิจที่สอดรับพฤติกรรมของคนสมัยใหม่ ซึ่งธุรกิจอื่น ๆ เน้นสร้างแบรนด์และขยายสาขา แต่สำหรับช่องทางนี้เน้นบริหารเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งท้ายสุดก็กลับมาเป็นยอดขาย

ขณะเดียวกัน ก็เลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางเจาะถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งสามารถคัดเลือกกลุ่มลูกค้าและวางสินค้าได้ตรงกับความต้องการการทำตลาดในยุคนี้จึงต้องตามกระแสการเปลี่ยนแปลงให้ทัน ถ้าแบรนด์หรือสินค้าใดสามารถเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด นั่นหมายถึงโอกาสนำแบรนด์และสินค้าเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้

จากข่าวที่บางกอกทูเดย์เรานำมาเล่าต่อนี้ มีประโยชน์มากทีเดียวจากเว็บไซต์ข่าวชั้นนำของไทย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ใครสนใจข่าวอื่นๆก็เข้าชมได้ครับ สำหรับเรื่องทำการตลาดกับ Gen Y บางกอกทูเดย์ก็มองว่า มันต้องโดน ต้องแรง และต้องเร็ว แล้วคนจะแชร์ ส่งต่อโดยเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้สร้างแบรนด์ได้รวดเร็วในทางกลับกันด้านลบก็ดับได้ง่ายๆเช่นกัน

ขอบคุณที่มาของข่าวและอ่านข่าวอื่นๆได้ที่ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  ,ภาพจาก social4retail.com

แชร์ต่อให้เพื่อน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*