ธุรกิจSMEs เริ่มต้นธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ; เป็นที่ทราบกันดีว่าการเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะคิด กว่าจะลงมือ แต่ที่ยากกว่าก็คือการทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่คุณต้องเจอกับสารพัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่ที่ทำให้คุณต้องคิดหาวิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของคุณให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน
มีแผนธุรกิจที่ดีแล้วหรือยัง
แผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าเอสเอ็มอี จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคตรวมทั้งเป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงินและนักลงทุนภายนอกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการในอนาคตได้ แผนธุรกิจจะบอกให้เราทราบว่าปัจจุบันเราเดินอยู่ตรงไหน อนาคตจะไปอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งหากเรามีการเขียนแผนธุรกิจที่ดีก็จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับธุรกิจเป็นไปอย่างมีระบบเนื่องจากเป้าหมายและทิศทางที่วางไว้มีความชัดเจนนั่นเอง
ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเขียนแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ ส่วนผู้ประกอบการที่มีแผนธุรกิจอยู่แล้วก็ควรนำแผนนั้นมาตรวจทานใหม่อีกครั้งเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ
องค์ประกอบของแผนธุรกิจที่ดี
เมื่อผู้ประกอบการได้รู้ถึงความสำคัญในการเขียนแผนธุรกิจแล้วว่าคือการทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันไม่ให้หลงทางหรือเดินออกจากแผนที่วางเอาไว้ แผนธุรกิจที่ดีนั้นต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายของการทำธุรกิจซึ่งแผนธุรกิจที่ดีควรประกอบไปด้วยประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
1. บทสรุปผู้บริหาร
ในส่วนนี้อาจสรุปเป็นใจความสำคัญเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่าท่านเป็นใคร ทำอะไร และมีเป้าหมายธุรกิจเป็นอย่างไร ส่วนมากจะเขียนหลังจากเขียนแผนธุรกิจข้ออื่นเรียบร้อยหมดแล้ว
2. สภาพโดยทั่วไปของการทำธุรกิจต้องเขียนแยกออกมาเป็น 2 หัวข้อย่อย ดังนี้
2.1 การเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ อาจใช้วิธีการเขียนตามตัวอักษรคำว่า Step เพื่อความสะดวกและสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านแผนธุรกิจได้เป็นอย่างดี สังคม, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, การเมือง
2.2 จุดแข็ง จุดอ่อน เป็นการพิจารณาถึงปัจจัยภายในธุรกิจว่ามีดีพอที่จะฉกฉวยโอกาส หรือจะต้องปกป้อง ลดทอนเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียและเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร หรือเรียกว่า การวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) หากพบว่ามีจุดด้อยจะต้องรีบทำการปรับปรุง แต่หากพบว่ามีจุดดี ก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ซึ่งต้องนำมาใช้ให้เข้ากับจังหวะเวลาและสถานที่
3. ต้นแบบธุรกิจ (Business Model)หัวข้อนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจจะดำเนินงานไปในทิศทางใด ต้นแบบธุรกิจดังกล่าวนี้จะต้องประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
3.1 ภารกิจ (Mission) กล่าวแนะนำตนเองว่าท่านเป็นใคร ทำไมจึงดำเนินธุรกิจนี้ขึ้นมา และรากฐานในการดำเนินธุรกิจของท่านคืออะไร
3.2 วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นการมองไปข้างหน้า กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการว่าต้องการก้าวไปในทิศทางใด มองไปที่ผลลัพธ์ (Result) ขององค์กรในปัจจุบันและอนาคตว่าเป็นอย่างไร
3.3 วัตถุประสงค์ (Objective) หรือเป้าหมายธุรกิจที่ต้องการ เช่น ต้องการให้ยอดขายมีกำไรเท่าไร หรือต้องการได้รับผลตอบแทนอย่างไร รวมไปถึงต้องการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรอย่างไร
4. ตลาดและการแข่งขัน
การเขียนแผนธุรกิจต้องมองตลาดและลูกค้าของธุรกิจว่ามีแนวโน้มอนาคตเป็นอย่างไร ตลาดเป้าหมายหรือลูกค้าหลักคือใคร มีตลาดและลูกค้าใหม่หรือไม่ ธุรกิจของท่านมีความได้เปรียบในตลาดเดิมหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งสภาวะการแข่งขันจะมากขึ้นหรือน้อยลงด้วยปัจจัยจากผลกระทบอะไร เช่น ผลกระทบด้านราคา การจัดโปรโมชั่น หรือการลดล้างสต๊อกสินค้าของคู่แข่ง ซึ่งกรณีเช่นนี้จะมีความรุนแรงในช่วงที่ผู้ขายมีจำนวนมากกว่าผู้ซื้อ เป็นต้น
5. สินค้าและบริการ
มีความแตกต่างจากคู่แข่งด้านใดบ้าง เช่น ราคาต่ำกว่าแต่มีคุณภาพดีหรือมีการออกแบบที่เน้นการใช้ประโยชน์และมีคุณภาพมากกว่า เป็นต้น ในหัวข้อนี้อาจจัดทำแผ่นพับ ใบปลิว ประกอบไว้ในธุรกิจนี้ด้วยก็ได้ แต่หากสามารถจัดทำเป็นตารางเปรียบเทียบกับสินค้าหรือบริการของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยแล้ว ก็จะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าสินค้าและบริการที่กำลังดำเนินการอยู่มีความแตกต่าง และมีจุดดี
จุดด้อยอย่างไรบ้าง
6. กลยุทธ์การตลาดและการขาย
กล่าวถึงช่องทางการขายและกลยุทธ์ที่ใช้ในการทำตลาด ทั้งในด้านสื่อสารทางการตลาดประเภทต่างๆ เช่น การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจจะมีทั้งกลยุทธ์ในด้านราคา การบริการ การจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย รวมทั้งแผนกลยุทธ์ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ได้
7. งบประมาณ
กล่าวถึงแผนการเงิน ผลประกอบการ งบกำไรขาดทุน งบดุล กระแสเงินหมุนเวียน ซึ่งต้องวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า 3 ปี การเขียนแผนธุรกิจในส่วนนี้ผู้ประกอบการต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่างบประมาณในแผนการเงินมาจากส่วนใด หรือถ้าดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งแล้วต้องการขยายกิจการก็ต้องเขียนแผนงบประมาณการเงินออกมาด้วยการคาดการณ์ให้ได้ว่า ถ้าใช้วิธีการกู้ยืมเงินจะสามารถผ่อนชำระหรือใช้คืนได้ในจำนวนเท่าไร ในระยะเวลาเท่าใด จึงจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้
8. การจัดองค์กร
การเขียนแผนผังองค์กรธุรกิจว่ามีอะไรในกระบวนการทางธุรกิจบ้าง หัวข้อนี้อาจเขียนเป็นภาพรวมของทรัพยากรบุคลากร แผนผังองค์กร หน้าที่ผู้บริหารหลัก ระบบสารสนเทศที่มีอยู่ก็ได้ รวมทั้งหลักฐานทางกฎหมาย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีอยู่ในกระบวนการจัดองค์กร เป็นต้น
9. เอกสารเพิ่มเติม
ผู้ประกอบการต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ของบริษัทให้พร้อม เช่น ใบปลิว แผ่นพับ ภาพถ่ายประกอบ ข่าวประชาสัมพันธ์ แผนที่บริษัท ซึ่งระบุถึงทิศทางสถานที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ใด หรืออยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญๆ อะไรบ้าง รวมทั้งรวบรวมเอกสารสำคัญต่างๆ ที่มีผลต่อการแสดงหลักฐานว่ามีองค์กรตั้งอยู่จริง
โดยสรุปแล้ว แผนธุรกิจที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ การพยากรณ์ การวิเคราะห์ การดำเนินการ การทบทวน การติดตาม และการประเมินผลการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนี้ แผนธุรกิจยังสามารถใช้เป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาต่างๆ อาทิ ธุรกิจกับเจ้าหนี้ ธุรกิจกับผู้ถือหุ้น ธุรกิจกับคู่ค้าได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะแผนธุรกิจได้ระบุถึงสิ่งต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์ได้ถึงผลลัพธ์ หรืออนาคตของธุรกิจนั่นเอง
ขอบคุณ kasikornbank.com