รวมวิธีขยายพันธุ์มะนาวแบบต่างๆ ที่ทำเชิงธุรกิจได้ ที่น่าสนใจที่สามารถทำเองได้ ลดต้นทุน แม้ว่ามะนาวจะเป็นพืชที่ต้องดูแลใส่ใจจึงจะเห็นผลงอกงาม เพราะอาจจะด้วยหลายสาเหตุทั้งศัตรูพืช ระยะเวลาของอายุต้น การดูแลระยะให้ผล หลายๆคนอาจจะใจออกเพราะว่าเหมือนจะยาก แต่นี่ก็คืออีกสาเหตุที่ทำให้มะนาวยังราคาสูง คนที่ทำสำเร็จมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ต้องมืออาชีพ ยากหน่อยแต่คุ้ม บางกอกทูเดย์เราได้รวบรวมวิธีการขยายพันธุ์มะนาวแบบต่างๆที่น่าสนใจมาให้ได้ศึกษาและแชร์แบ่งปันกันไป..
วิธีขยายพันธุ์มะนาว โดยวิธีต่างๆ
ก่อนที่จะทำการเพาะและขยายพันธุ์มะนาว ไม่ว่าจะเป็นวิธีอะไร สำหรับใครที่ต้องการทำในเชิงการค้าแล้ว ต้องรู้ก่อนว่ามะนาวพันธุ์อะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาด จุดเด่น จุดด้อย รวมถึงราคามะนาวด้วย เพื่อลดความเสี่ยง บางกอกทูเดย์จึงได้นำข้อมูลรวบรวมมาให้ลองได้ศึกษากันสำหรับพันธุ์มะนาวที่นิยมจำแนกตามความสำคัญทางเศรษฐกิจคือ
1. มะนาวหนัง ผลอ่อนมีลักษณะกลมยาวหัวและท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ผลมีลักษณะค่อนข้างยาว อาจกลมมนบ้างเล็กน้อย ด้านหัวมีจุก ข้อดีคือเก็บรักษาไว้ได้นาน ข้อเสีย คือ เปลือกหนาเวลานำไปปรุงอาหารอาจมีรสขมเนื่องจากตุ่มน้ำมันที่ผิว
2. มะนาวไข่ ผลอ่อนมีลักษณะกลมยาวหัวท้ายแหลม เมื่อผลโตเต็มที่มีลักษณะกลมมน เปลือกบางผลโต กว่ามะนางหนัง ข้อดีคือน้ำมาก
3. มะนาวแป้น ผลอ่อนมีลักษณะกลมมน เมื่อผลโตเต็มที่มีลักษณะกลมแบน ทรงแป้น ผลมีขนาดกลางระหว่างมะนาวหนัง และมะนาวไข่ เปลือกบางน้ำมากให้ผลผลิตตลอดปี มีหลายพันธุ์ เช่น แป้นรำไพ แป้นทราย และแป้นทวาย เป็นต้น
ราคามะนาว
ราคามะนาว จะขยับราคาสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน จึงเป็นช่วงที่มีการผลิตมะนาวนอกฤดู ใครที่สามารถทำมะนาวออกสู่ตลาดในช่วงนี้ได้ก็จะได้ราคาดี เพราะความต้องการมะนาวมีความต้องการสูงต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีการปลูกมาก แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด อีกทั้งต้องใช้ความรู้ความอดทนในการดูแลค่อนข้างดีจึงจะได้ผลคุ้มทุน ด้วยข้อจำกัดในด้านต่างๆเหล่านี้ ยงคงทำให้มะนาวมีราคาสูงต่อเนื่องอยู่ แม้การปลูกมะนาวจะยากหน่อย แต่ถ้าทำได้แล้วก็คุ้ม ดังนั้นแล้วต้องเป็นมืออาชีพ..สำหรับทำเชิงการค้า
รวมวิธีขยายพันธุ์มะนาว
การขยายพันธุ์มะนาวโดยการเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดนั้นมะนาวนั้นไม่นิยมเพราะจะมีการกลายพันธุ์ แต่ยังมีการเพาะเมล็ดมะนาวเพื่อให้ได้ต้นตอที่แข็งแรงและมีรากแก้ว เพื่อใช้เป็นต้นตอในการขยายพันธุ์
คัดเลือกมะนาวสด เลือกพันธุ์ที่ต้องการและลูกที่สมบูรณ์ที่สุด หากต้องการทำเพื่อการค้าควรเลือกปริมาณที่มากกว่าต้องการ เผื่อผลการขยายพันธุ์มีส่วนที่ไม่สมบูรณ์หรือเสีย
อุปกรณ์ มีดปอก ,ถาดอะลูมิเนียมหรือถาดพลาสติกชนิดมีฝาปิด ,กระถางขนาด 3-5 นิ้ว,กระดาษทิชชูแผ่นหนา,แกลบเผา ดินร่วน,ปุ๋ยคอก
วิธีขยายพันธุ์มะนาวด้วยการเพาะเมล็ด
1. ปอกเปลือกมะนาว แล้วจัดการแบ่งลูกมะนาวออกเป็นส่วน ๆ ขั้นตอนนี้พยายามอย่าใช้มีดหั่นมะนาวเป็นเสี้ยว เพราะคมมีดอาจหั่นเมล็ดมะนาวให้เสียหายได้
2. แยกเมล็ดมะนาวออกมา ระวังอย่าให้เล็บขูดผิวเมล็ดมะนาวจนถลอก
3. นำเมล็ดมะนาวไปล้างกับน้ำเย็นให้สะอาดหมดจดจากน้ำมะนาว
4. ตากเมล็ดมะนาวกับแดดจัด ๆ เพื่อให้เมล็ดมะนาวแห้งสนิท
5. แช่น้ำมะนาวกับน้ำเย็น ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ขั้นตอนนี้คุณสามารถเติมฮอร์โมนเร่งรากลงไปด้วยก็ได้
6. ปูกระดาษทิชชูรองถาดพลาสติกประมาณ 2-3 แผ่น จากนั้นนำเมล็ดมะนาวมาวางเรียงบนกระดาษทิชชู
7. คลุมเมล็ดมะนาวด้วยกระดาษทิชชูอีกชั้น พรมน้ำจนกระดาษทิชชูชุ่ม ปิดฝากล่องแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน
8. หมั่นเปิดดูว่าเมล็ดมะนาวงอกรากออกมาแล้วหรือยัง และต้องคอยพรมน้ำอย่าให้กระดาษทิชชูแห้งเด็ดขาด
9. ถ้ารากเริ่มงอกบ้างแล้ว ให้เตรียมผสมดินร่วมกับปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 50:50 ใส่ลงในกระถาง วางเมล็ดมะนาวลงปลูก กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำพอชุ่ม วางกระถางข้างหน้าต่าง ให้มีแดดส่องถึง
10. หมั่นรดน้ำต้นมะนาวพอประมาณ ไม่ต้องชุ่มมาก แต่ก็พยายามอย่าให้ต้นมะนาวขาดน้ำ เพราะโดยปกติแล้วต้นมะนาวจะชอบแสงแดดรำไร อากาศอบอุ่น
11. หากต้นมะนาวเริ่มโต ให้เปลี่ยนใส่กระถางที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม หรือ ปลูกมะนาวลงดิน
ต้นมะนาวที่ได้จากการเพาะเมล็ด สามารถนำไปเป็นต้นสำหรับการขยายพันธุ์มะนาวดีๆ พันธุ์อื่นๆได้ตามต้องการ เช่น การโดยการทาบกิ่ง การเสียบกิ่ง หรือวิธีอื่นๆที่ใช้ต้นตอที่แข็งแรง ต้นมะนาวที่มาจากการเพาะด้วยเมล็ดจึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นต้นตอมาก เพราะมีรากแก้ว ทำให้แข็งแรง
วิธีการขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ (กิ่งติดใบ)
การขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ ข้อดีคือสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากแม้มีพันธุ์ดีแค่ต้นเดียว (โดย ครูติ่ง มีขั้นตอนการทำดังนี้)
1. นำกาบมะพร้าวตัดเป็นท่อนยาวราว 2.5-3 ซม. นำไปแช่น้ำไว้จนชุ่ม เอาค้อนทุบจนกาบมะพร้าวแตกนุ่มขึ้น เพื่อง่ายต่อการห่อให้กลม
2. เมื่อได้กาบมะพร้าวที่นุ่มแล้ว นำมาห่อม้วนเป็นทรงกลม รัดหนังยางหัวท้าย แล้วนำตะปูทิ่มลงไปบริเวณด้านบนของกาบมะพร้าวให้เป็นรู เพื่อลดการเสียดสีเวลานำใบเสียบลงไป
3. ตัดใบให้มีก้านด้านบนใบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างก้านใบให้ยาวเกือบถึงชั้นที่อยู่ด้านล่างถัดไป หรือยาวประมาณ 1-1.5 ซม.
4. ตัดใบออกครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำ
5. เปิดกรีดเปลือกหุ้มก้านด้านของใบ หรือเปิดแผลตามความยาวของก้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการออกราก 1-3 หน้า หากไม่ทำเช่นนี้รากจะออกเฉพาะที่ปลายลอยตัดเท่านั้น ถือว่าน้อย ทำให้ต้นมะนาวที่นำไปปลูกไม่แข็งแรง ถ้ากรีดพื้นที่ตรงนี้จะเพิ่มพื้นที่ในการออกรากมากขึ้นนั่นเอง
6. นำกิ่งที่เปิดหน้าแล้ว ไปจุ่มในน้ำยาเร่งราก แล้วเอาไปผึ่งลมให้แห้ง ถ้าไม่แห้งเมื่อนำไปเสียบในกาบมะพร้าวอาจเน่าได้
7. เมื่อแห้งแล้ว เอาไปเสียบในกาบมะพร้าวที่เตรียมไว้จนมิดด้าม พอเสียบได้ 4 ก้อน หรือ 4 กิ่งมามัดรวมกัน เพื่อให้ตั้งได้
8. นำก้อนกาบมะพร้าวที่เสียบกิ่งแล้ว ไปจุ่มน้ำให้ชุ่มแล้วใส่ไว้ในถุงร้อน มัดหนังยางในลักษณะให้ถุงร้อนพองโป่งออก ให้ใบไม่กระทบถุง
หรือถ้าหากมี ห้องพ่นหมอกจะดีมาก ให้เอาพันธุ์มะนาวที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้าในห้องพ่นหมอกจะช่วยให้รากแตกเร็ว และที่สำคัญเพิ่มอัตราการรอดได้มาก
9. เมื่อได้ถุงที่มีก้อนกาบมะพร้าวเสียบใบมะนาวอยู่ด้านในเรียบร้อยแล้ว ให้เอาไปตั้งไว้ใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงา ให้โดนแสงบ้างเล็กน้อย ประมาณ 1 เดือน มะนาวจะเริ่มออกรากหรือเริ่มติดตายอด ส่วนถ้าเป็นมะกรูดจะใช้เวลานานประมาณ 3-4 เดือน จึงจะเริ่มออกรากและติดตายอด ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์ควรรอทั้งรากและตาออกมาทั้งคู่ จึงเริ่มนำไปลงถุงชำต่อไปได้
คลิปการขยายพันธุ์มะนาวด้วยใบ
การขยายพันธุ์มะนาว โดยการชำ
การตัดชำกิ่งมะนาว การตัดชำ คือ การตัดส่วนส่วนของกิ่งพันธุ์มะนาวที่มีสภาพต้นที่สมบูรณ์ แล้วนำมาชำไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดรากและยอด พัฒนาเป็นพืชต้นใหม่ โดยที่ต้นใหม่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการและจะช่วยร่นระยะเวลาในการออกดอกติดผลให้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ด มะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งปักชำใช้เวลา 2-3 ปี ก็จะให้ผลผลิต ส่วนการเพาะเมล็ดอาจใช้ระยะเวลามากกว่าการปักชำจึงไม่เหมาะสำหรับการผลิตมะนาวเชิงการค้า
การตัดชำกิ่งอ่อน (Soft wood cutting) คือ การตัดกิ่งที่เพิ่งแตกออกมาใหม่ มีลักษณะอ่อนและอวบน้ำ ความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยการตัดชำกิ่งอ่อนขึ้นอยู่กับอาหารและฮอร์โมนของพืช กล่าวคืออาหาร ที่มีอยู่ในกิ่งอ่อนหรือยอดของพืชไม่ใช่ปัจจัยอันสำคัญ เพราะอาหารในส่วนของพืชดังกล่าวมีไม่มากพอ ดังนั้นอาหารที่จะนำมาสร้างรากจะต้องได้จากการสังเคราะห์แสง ด้วยเหตุนี้การตัดชำกิ่งอ่อนจะต้องมีใบติด นอกจากนั้นปัจจัยอื่นๆ คือ อุณหภูมิ ความชื้น และแสงที่พอเหมาะก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเช่นกัน
การตัดชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ( Semi hard wood cutting) กิ่งชนิดนี้เป็นกิ่งที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และมีเนื้อไม้เริ่มแข็งเหมาะแก่การผลิตมะนาวเชิงการค้า สำหรับกิ่งที่ใช้ในการตัดชำ ควรริดใบแก่หรือใบล่างออกเหลือไว้เฉพาะใบที่เจริญเต็มที่และใบที่อยู่ด้านยอดประมาณ 4-5 ใบ
วิธีการตัดชำกิ่ง มะนาว
1.เมื่อตัดกิ่งพันธุ์มะนาวมาแล้วควรพ่นน้ำให้แก่กิ่งพันธุ์มะนาวเป็นระยะ เพื่อช่วยลดการคายน้ำ
2. เตรียมกิ่งขนาดยาวโดยทั่วไปประมาณ 6 – 9 นิ้ว ขนาดของกิ่งประมาณ 1 นิ้วโดยรอยตัดควรอยู่บนข้อและใกล้กับข้อให้มากที่สุด
3. กิ่งมะนาวจะต้องมีข้อจำนวน ประมาณ 3 – 5 ข้อ และมีใบอยู่ 4-6 ใบ
4. โคนกิ่งควรตัดเป็นรูปปากฉลามหรือฝานบวบ จะมีรอยแผลช้ำบริเวณรอยตัดให้ใช้คัดเตอร์ตัดรอยช้ำออกซ้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกราก
5.ใช้คัดเตอร์กรีดบริเวณโคนกิ่งในแนวตั้งความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร 3-4 รอย เพราะรากจะออกบริเวณนี้
6.หลังจากนั้นนำกิ่งมะนาวแช่ลงในน้ำที่ผสมสารป้องกันเชี้อรา และเชื้อแบคทีเรีย เพื่อไม่ให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเข้าทางรอยแผล
7.นำกิ่งพันธุ์จุ่มลงในสารเร่งการเกิดรากจำพวก NAA และ IBA เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกรากของกิ่งพันธุ์มะนาว
8. หลังจากเตรียมกิ่งพันธุ์มะนาวเสร็จแล้ว ใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กหรือเท่ากับขนาดของกิ่งปักชำ แทงลงในวัสดุปลูกก่อนนำกิ่งลงปักชำ เพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำบริเวณแผล
9. ฝังกิ่งลึก ½ ส่วน ของความยาวกิ่ง และที่สำคัญคือต้องกดบริเวณโคนกิ่งให้แน่น
10. ใช้วัสดุพรางแสง ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และต้องบังกระบะปักชำไม่ให้มีลมมาปะทะเพื่อไม่ให้กิ่งปักชำขยับและลดการคายน้ำของกิ่งพันธุ์มะนาว
11.สังเกตดูว่าวัสดุเพาะชำหรือน้ำที่จับบริเวณใบแห้งเกินไปหรือไม่ ถ้าแห้งเกินไปควรพ่นน้ำให้ถี่ขึ้น
ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี สภาพภายในกิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้ ทีมแอดมิน BangkokToday.net เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อผลของการชำกิ่งมะนาว ที่เกษตรกรผู้ทำ ต้องรู้เทคนิคเหล่านี้
1. การเลือกกิ่งมะนาว ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน ๑ ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก การเกิดรากและ แตกยอดก็จะง่ายขึ้น
1.2 อายุของต้นมะนาวที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด)เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ
1.3 เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง
1.4 การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็ง (firmness) พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
1.5 การทำแผลโคนกิ่ง แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
1.6 การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น ช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็ว สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ มักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือไอบีเอ(IBA)หรือชื่อเต็มคือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneaceticacid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืช
การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก
1. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับ การตัดชำโดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว เราควรฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็น ระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ (autometic mist) ก็ได้
2. แสงสว่างกับการออกรากแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติด เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้น
3. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น (moisture) และอากาศ (areation) ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย วัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดี จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน
การขยายพันธุ์มะนาวด้วยการตอนกิ่ง
สำหรับเรื่องการตอนกิ่งนี้ เป็นสิ่งที่คนส่วนมากทำเป็นได้ง่าย เพราะมีสอนกันทั่วไป ในโรงเรียนก็มี ดังนั้นแล้ว ทีมงานบางกอกทูเดย์เราจึงนำมาแบบสรุปๆ เพื่อนำไปลองฝึกทำ เพราะที่สุดแล้วผลจะออกมาตามความชำนาญของแต่ละคน โดยเริ่มต้นด้วยขั้นตอนแบบสรุปของการตอนกิ่งมะนาวดังนี้
1.เลือกกิ่งมะนาวที่ไม่อ่อนและแก่จนเกินไป สามารถตอนได้ตั้งแต่กิ่งที่เป็นสีเขียว สีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลแก่ ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร เลือกกิ่งที่ไม่เป็นโรคแมลง กิ่งที่ตั้งตรง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ขึ้นไป
2. ตัดหนามและใบบริเวณที่จะควั่นกิ่งออกประมาณ 5 เซนติเมตร (เพื่อให้สะดวกในการควั่นกิ่ง และป้องกันหนามมะนาวตำมือ)
3. ควั่นกิ่งออกเป็น 2 รอยถึงเนื้อไม้ ห่างกัน 1-2 เซนติเมตร
4. ใช้สันมีดขูดเนื้อเยื่อเจริญออกให้หมด ขูด
5. หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่มีความชื้น หรือใช้ตุ้มตอนสำเร็จ ประกอบด้วย พลาสติก ขุยมะพร้าว ดินผสมน้ำยาเร่ง ราก
มัดเปาะหัวท้ายให้แน่น
6. ทิ้งไว้ประมาณ 25-45 วัน รากจะแทงออกมาให้เห็น โดยจะเห็นรากด้านล่างออกก่อน ตามแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อมีรากออกมากแล้ว ใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัด เพื่อนำไปแช่น้ำต่อไป
7. นำกิ่งตอนที่ออกรากแล้ว แช่น้ำจนอิ่มตัว
8. นำไปชำในถุงดำขนาด 5 x 8 นิ้ว ส่วนผสมของวัสดุปลูก ดิน 1 ส่วน,แกลบ 1 ส่วน,มูลวัวที่ย่อยสลายแล้ว 1 ส่วน
9. นำกิ่งตอนมะนาวลงปลูกในถุงดำขนาด 5 X 8 นิ้ว โดยใส่ดินปลูกรองก้นถุง 1 ใน 3 ส่วนของถุง
10. นำถุงพลาสติกที่หุ้มตุ้มออก
11. วางกิ่งตอนมะนาวลงในถุง โดยให้ลำต้นตั้งตรง ใส่ดินให้เต็มถุงเขย่าดินให้แน่น
12. รดน้ำแล้วเก็บในที่ร่มรำไร ประมาณ 15 วัน จะเห็นรากแทงออกจากถุง หรือนำไปปลูกในแปลง และสามารถจำหน่ายได้
สำหรับเรื่องการตอนกิ่งมะนาวเชื่อแน่ว่าหลายๆคนทำเป็นอยู่แล้วแต่อาจจะต้องอาศัยการปฏิบัติเองเพื่อให้เกิดความชำนาญ สำหรับใครที่ต้องการปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริมหรือเริ่มทำ การค่อยๆขยาย เพื่อศึกษาให้เกิดความชำนาญก่อนจะทำทีละมากๆก็จะดีเพราะค่อยๆลงทุนไป ทำไป ขายไป ลงทุนต่อ เพราะมะนาวในตลาดยังมีความต้องการอีกมาก
การขยายพันธุ์มะนาว ในแต่ละวิธีที่นิยมทำกันนี้ ต้นทุนของแต่ละวิธีอาจจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ทำจะมีต้นจากวิธีไหนที่ต่ำกว่า อีกทั้งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนั้นแล้วหากจะทำเพื่อการค้า คงต้องทดลองทำเอง คิดต้นทุนออกมา ผลดีผลเสีย แล้วเลือกวิธีที่ดีที่สุด และถ้าต้องการขยายพันธุ์มะนาวเพื่อขายก็ต้องเช็คความต้องการของตลาดด้วย นอกจากวิธีการขยายพันธุ์มะนาวที่นิยมทำกันนี้ในอนาคตอาจจะมีวิธีอื่นๆที่ทำได้ดีกว่า ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ดังนั้นแล้วการทดลอง เรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีมาช่วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ กิจการมั่นคง สามารถแข่งขันได้อย่าง ยั่งยืน
เรียบเรียงโดย www.BangkokToday.net
ขอบคุณ ภาพจาก gotoknow.org ,และอ้างอิงจาก http://research.rae.mju.ac.th
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
http://www.manowpan.com/
http://rdi.ku.ac.th
ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
ขอบคุณครับ สำหรับคำแนะนำ ทีมงานของเราจะรวบรวมมาลงไว้ให้ได้ลองศึกษากันดู สำหรับการปลูกมะนาวครับ
ขอวิธีปลูกมะนาวจะได้แนะนำชุมชนด้วยครับขอวิธีทุกขั้นตอนเลยครับ