ร้านสะดวกซื้อแข่งเดือด! แฟมิลี่มาร์ท เซเว่นฯ มินิบิ๊กซี เร่งขยายแฟรนไชส์

แฟมิลี่มาร์ท เซเว่นอีเลฟเว่น มินิบิ๊กซี เร่งขยายแฟรนไชส์  ปรับเงื่อนไขต่างๆในการเข้าร่วมลงทุนและให้ทางเลือกมากขึ้น พร้อมชูจุดแข่ง จุดแข็งเพื่อดึงนักลงทุน ผู้สนใจที่จะเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ซี่ เอาเป็นว่าคงจะเป็นข่าวดีสำหรับใครที่สนใจอยากจะทำธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคได้นิยมหันมาซื้อของกินของใช้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้มาตรฐาน สินค้าครบครันหลากหลาย ใหม่สด ดูดีน่าเชื่อถือมากขึ้น 

จากข่าวของเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้มีข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้นำค้าปลีกรายใหญ่ๆน่าสนใจมากว่า แฟมิลี่มาร์ท งัด 3 โมเดลใหม่  แฟมิลี่มาร์ทได้ลงโฆษณาประกาศเปิดรับสมัครผู้สนใจจะเปิดร้านแฟรนไชส์ ด้วยการปรับลดเงื่อนไขให้มีความจูงใจมากขึ้น และสามารถเปิดร้านได้ง่ายขึ้น โดยเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก โดยแบ่งเงื่อนไขเป็น 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 ผู้สนใจต้องมีทำเลที่ตั้งเป็นของตัวเอง และต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2.5 ล้านบาท

รูปแบบที่ 2 ผู้สนใจไม่ต้องมีสถานที่เป็นของตัวเอง เป็นร้านที่บริษัทเปิดดำเนินการอยู่แล้ว โดยที่แฟมิลี่มาร์ทจะจัดหาทำเลและพิจารณาร้านสาขาที่เหมาะสมให้ มีเงินลงทุนประมาณ 1.2 ล้านบาท

รูปแบบที่ 3 ซึ่งเรียกว่า Professional Manager (ผู้จัดการมืออาชีพ) โดยกำหนดคุณสมบัติว่า ต้องเป็นผู้บริหารร้านของบริษัท และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด โดยที่แฟมิลี่มาร์ทจะพิจารณาร้านสาขาที่เหมาะสมให้ โดยที่ผู้จัดการร้านจะได้รับค่าตอบแทนรายเดือนและค่าตอบแทนพิเศษ โดยบริหารร้านได้ดีภายในระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป สามารถเพิ่มสาขาในการบริหารร้านได้ และมีเงินลงทุน 3 แสนบาท

นางจุฑารัตน์ วงศ์สุวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของแฟรนไชส์มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีจะมีสัดส่วนร้านที่เป็นแฟรนไชส์ 20% โดยจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น นอกจากการทยอยเปิดสาขาใหม่ทั้งที่เป็นร้านแบบปกติและร้านที่มีดีไซน์เป็นพรี เมี่ยม เจาะทำเลใจกลางเมืองและย่านที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 1,090 สาขา  สอดคล้องกับนายณัฐ วงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฟมิลี่มาร์ท ที่กล่าวเมื่อก่อนว่า ปีนี้มีนโยบายจะเพิ่มสัดส่วนร้านสาขาแฟรนไชส์มากขึ้น จากที่มีสัดส่วนเพียง 10% เมื่อปี 2556 และเพื่อสนับสนุนให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็ว บริษัท จะเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือโชห่วยจะหันมาให้ความสำคัญ กับการเป็นแฟรนไชส์ของร้านสะดวกซื้อมากขึ้น

นายณัฐกล่าวว่า สำหรับในเมืองไทย จำนวนร้านแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ท อาจจะยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับร้านแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนสูงถึง 90% อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนเป็น 50% ใน 5 ปี

7-11 เวตติ้งลิสต์ ยาวเหยียด  ด้านผู้นำตลาดเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีแผนขยายสาขาครบ 10,000 สาขาในปี 2561 นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนร้านแฟรนไชส์อยู่ที่ประมาณ 44% และในอนาคตต้องการจะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มากขึ้น หรือประมาณ 60% ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาขอเป็นแฟรนไชส์และอยู่ในเวตติ้งลิสต์ เป็นจำนวนมาก และปีนี้มีแผนจะเปิดสาขาใหม่มากกว่า 600 สาขา จาก 7,700 สาขาในปัจจุบัน ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทจัดกิจกรรมและมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยว กับระบบแฟรนไชส์ในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง “ร้านแฟรนไชส์ยังมีสัด ส่วนน้อย ถือว่ายังมีโอกาสอีกมาก ส่วนการที่ค่ายอื่น ๆ หันมาเน้นการขยายร้านแฟรนไชส์มากขึ้น บริษัทก็ไม่ได้มีความกังวล หรือจะต้องปรับเงื่อนไขของแฟรนไชส์ เพราะการทำธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องพัฒนาร้านให้มีอัตรากำไร ยิ่งร้านมีกำไรสูง ก็จะช่วยจูงใจให้คนสนใจเข้ามาสมัครมากขึ้น แต่ถ้าร้านยังมีกำไรน้อย คนก็สนใจสมัครแฟรนไชส์น้อย” ก่อนหน้านี้นายปิยะวัฒน์ระบุว่า บริษัทเน้นการเติบโตด้วยระบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้าอัตราเติบโตของสาขาแฟรนไชส์ปีละ 3% ปัจจุบันมีแนวโน้มว่านักลงทุนและผู้สนใจต้องการจะเปิดร้านด้วยระบบแฟรนไชส์มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมองหาธุรกิจส่วนตัว

ปัจจุบันร้านเซเว่นฯมี 3 รูปแบบ คือ ร้านที่บริษัทลงทุนเอง 2.แฟรนไชส์ 3.การให้อนุญาตสิทธิ์ช่วงในอาณาเขต (Subarea License) หรือให้สิทธิ์ขยายสาขาในแต่ละภูมิภาค อาทิ ภาคเหนือตอนบน มีบริษัท ช้อยส์ มินิสโตร์ จำกัด ในเครือตันตราภัณฑ์ขยายร้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

มินิ บิ๊กซี ชิมลางแฟรนไชส์  ข่าวจากวงการค้าปลีกเปิดเผยว่าที่ผ่านมาบิ๊กซีได้เริ่มทดลองเปิดร้าน แฟรนไชส์ด้วยการใช้ร้านโมเดล มินิ บิ๊กซี เป็นตัวนำร่อง โดยมีแผนจะเปิดสาขาในสถานีปั๊มน้ำมันบางจากที่เป็นพาร์ตเนอร์หลักเป็นแห่ง แรก นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะเร่งการเปิดสาขามินิ บิ๊กซีครบ 950 สาขาทั่วประเทศในอีก 2 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้ รูปแบบการทดลองขายแฟรนไชส์มินิ บิ๊กซี จะเป็นโมเดลคล้ายกับเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิดในปั๊มร่วมกับสถานีน้ำมัน ปตท. ซึ่งดีลเลอร์ปั๊มน้ำมันจะเป็นผู้ลงทุนเอง และคาดว่าการขายแฟรนไชส์จะเป็นตัวเร่งให้บิ๊กซีสามารถขยายร้านคอนวีเนี่ย นสโตร์ได้อย่างก้าวกระโดด

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การที่บิ๊กซีหันมาใช้โมเดลนี้ในการขยายสาขา ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ผ่านมาบิ๊กซีจะเป็นผู้ลงทุนในการหาพื้นที่ทำเลและขยาย สาขาเอง จึงทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของความคล่องตัวในการจับจองพื้นที่ เมื่อเทียบกับเซเว่นอีเลฟเว่น หรือแฟมิลี่มาร์ท ที่ช่วงหลังให้ความสำคัญในเรื่องของการขยายสาขาผ่านรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น

จากข่าวนี้เชื่อแน่ว่านับจากนี้คงจะเห็นการแข่งเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น สำหรับคนที่เปิดร้านขายของชำอยู่แล้วหรือร้านค้าปลีก คงต้องเตรียมแผนรับมือหรือถ้าใครสนใจอยากจะเข้าร่วมธุรกิจแฟรนไชส์จากทั้งสามค่ายนี้ ก็น่าจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากทางเลือกที่มากและเงื่อนไขที่ง่ายขึ้น

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *