แพทย์เผย ร้อยละ8 ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในไทยมีอายุน้อยกว่า 40ปี

แพทย์เผย ร้อยละ8 ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในไทยมีอายุน้อยกว่า 40ปี พบแนวโน้มอุบัติการณ์โรคในกลุ่มคนวัยทำงานและวัยกลางคน หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “โรคพาร์กินสัน” ผ่านหูกันมาบ้าง และคนทำงานจนถึงคนวัยกลางคนคงคิดว่าโรคนี้ยังเป็นโรคที่ไกลตัว ที่เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่คุณกำลังคิดผิด!!

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยมีอัตรา 1 ใน 100 ของประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากจำนวนของผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ ที่สำคัญยังพบอีกว่าผู้ป่วยร้อยละ 8 ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคพาร์กินสันก่อนอายุ 40 ปีอีกด้วย ดังนั้นโรคพาร์กินสันจึงไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในกลุ่มวัยทำงานและวัยกลางคนก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วย

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทในส่วนของสับสแตนเชีย ไนกรา ซึ่งเซลล์ระบบประสาทส่วนนี้มีหน้าที่ในการผลิตสารโดปามีนซึ่งมีส่วนสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเซลล์สมองส่วนนี้เสื่อมและผลิตสารโดปามีนน้อยลง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการติดขัดทางการเคลื่อนไหว และการทรงตัว

อาการเตือนของโรคพาร์กินสัน ได้แก่ อาการนอนละเมอ ดมกลิ่นได้น้อยลง ท้องผูกเรื้อรัง และซึมเศร้า ในช่วงที่เป็นโรคใหม่ๆ อาการเด่นชัดที่สุดจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึงการสั่น สภาพแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า เดินลำบากและติดขัด เวลาเดินแล้วแขนไม่แกว่งไปมา ต่อมาอาจเกิดปัญหาด้านการคิดและพฤติกรรมได้ โดยภาวะสมองเสื่อมเกิดได้ทั่วไปในระยะท้ายของโรค ขณะที่ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการจิตเวชที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้แก่การมีปัญหารับความรู้สึก การหลับและอารมณ์

แม้ว่าโรคพาร์กินสันจะไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้คนเสียชีวิต แต่อาการของโรคส่งผลทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคม จากอาการพูดติดขัด พูดช้า หรือพูดไม่ค่อยออก อาการสั่นเกรงเวลาพูดคุยโต้ตอบกับคนอื่น รวมทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น อุบัติเหตุการล้มจากการเดินติดขัด และยังทุกข์ทรมานจากอาการข้างเคียงของโรคและยาอีกด้วย

จากอาการติดขัดด้านการเคลื่อนไหวและการเดินของผู้ป่วยพาร์กินสันข้างต้น ไม้เท้าเลเซอร์จึงได้ถูกคิดค้นขึ้นจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลของยาลีโวโดปา และไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีปัญหาการเดินติดขัด” (The Efficacy of Levodopa and Laser-suided Walking Devices in Parkinson’s Disease Patients with Perdominant Gait Freezing) ซึ่งงานวิจัย ไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินเป็น 1 ในงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด และไม้เท้าเลเซอร์สามารถช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาการเดินติดขัด โดยอาศัยหลักการกระตุ้นทางสายตาและสิ่งกระตุ้นทางการได้ยิน โดยใช้แสงเลเซอร์และเสียงที่เปล่งออกมาจากไม้เท้า พบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนครั้งที่เดินติดขัดลดลง สามารถเพิ่มระยะก้าวและเพิ่มความเร็วในการเดิน อีกทั้งยังพบด้วยว่าผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคมาก เดินได้ดีกว่ากลุ่มที่มีระดับความรุนแรงของโรคน้อย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยในโครงการที่ได้รับไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินไปแล้วจำนวน 200 คน

“ผมขอขอบคุณแบรนด์ สภากาชาดไทย และผู้บริจาคทุกท่านที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงการวิจัยไม้เท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เป็นโครงการต่อเนื่อง สำหรับผู้สนใจที่ต้องการสนับสนุนงานวิจัยนี้สามารถร่วมบริจาคโดยตรงได้ที่บัญชี “กองทุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่ 045-582-9596 หรือ www.chulapd.org” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *