การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ การลงทุนอีกแบบที่น่าสนใจ โดยการลงทุนในรูปแบบ กองทุนส่วนบุคคล Private Fund (PF) บางกอกทูเดย์เราอยากจะนำมาแนะนำให้ลองศึกษาดู เผื่อจะมีโอกาสต่อยอดทรัพย์สินที่มีอยู่ แบบสรุปสั้นๆเข้าใจง่าย โดย www.ktbcare.com
รูปแบบการลงทุนส่วนบุคคล “Private Fund”
เมื่อทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การลงทุนในวิธีเดิมๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบ จึงต้องสร้างตัวช่วยที่เป็น “มืออาชีพ” ขึ้นมาจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ แทนในรูปแบบของ กองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund (PF)
Private Fund (PF) คืออะไร
กองทุนส่วนบุคคล คือการที่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล มอบหมายให้ผู้จัดการกองทุน ซึ่งอาจเป็นบริษัทจัดการ (บลจ.) หรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้บริหารเงินลงทุนให้ตนเอง สามารถทำได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเลยค่ะ
PF ต่างจากกองทุนรวมอย่างไร
ความแตกต่างระหว่างกองทุนรวมกับกองทุนส่วนบุคคลคือ ผู้ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ โดยต้องทำหนังสือสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ลงทุนและบริษัทจัดการให้เรียบร้อยนะคะ
ข้อตกลงการทำ PF
ผู้ลงทุนต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ฐานะและภาระทางการเงิน ระยะเวลาและประสบการณ์ในการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง แก่ผู้บริหารกองทุนเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม โดยแต่ละ บลจ.จะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้แตกต่างกัน โดยมีจำนวนเงินขั้นต่ำของนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท
PF เหมาะสำหรับใคร
การลงทุนด้วยรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลนี้ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเงินก้อนโต เช่น กรรมการของมูลนิธิ สมาคม หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ นับเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยดูแลให้สินทรัพย์เติบโตได้
ข้อควรระวัง
ก่อนลงนามทำสัญญา นักลงทุนควรพิจารณาสัญญาอย่างรอบคอบ ว่านโยบายเป็นไปตามที่แจ้งไว้หรือไม่ อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบริหารจัดการกองทุนมีอะไรบ้าง เป็นอัตราที่รับได้หรือไม่ รวมทั้งข้อควรระวังข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจมีด้วยค่ะ
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในรูปแบบนี้ สามารถขอจัดตั้งกองทุนได้จากบริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) โดยดูรายชื่อได้จาก www.sec.or.th ค่ะ หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของธนาคารกรุงไทยและบริษัทในเครือ ทีมผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุน โทรศัพท์ 0-2208-7111
ขอบคุณที่มาจาก www.ktbcare.com