SMECN ประกาศความพร้อม หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่เอสเอ็มอี 4.0

ปีนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเอสเอ็มอีไทย เพราะรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อที่จะผลักดันผู้ประกอบเอสเอ็มอี ให้มีความมั่นคง แข็งแรง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นเอสเอ็มอี 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับปรุงสินค้าหรือบริการให้สอดรับกับยุคอินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ และก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย เป็นไทยแลนด์ 4.0
ดร. วิริยะ ลิขิตวงศ์ นายกสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMECN) พูดถึงโอกาสและทางรอดของผู้ประกอบการเอสเอ็มไทย ว่า ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าไม่ยอมปรับตัวก็มีความเสี่ยงที่จะตกยุค เพราะปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนไปสู่โลกยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องตระหนักและเร่งปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ที่จะเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จึงมีภาระที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่โลกยุคดิจิตอล แต่หากไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกหลงลืมอยู่ในโลกยุคเก่า ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการจะก้าวเข้าสู่เวทีการค้าในโลกยุคดิจิตอล ก็ต้องมีความพร้อมที่จะแปลงสภาพตัวเองให้เป็น เอสเอ็มอี 4.0 ที่ไม่เพียงนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาช่วยในการพัฒนาการผลิต หรือการขายเท่านั้น แต่จะต้องปฏิวัติตนเองด้วยการทำงานบนพื้นฐานของดิจิตอลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การผลิต การจัดการ การตลาด การรับจ่ายเงิน การขนส่ง หรือการบริการ

ดร. วิริยะ กล่าวย้ำว่า สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาฯ เป็นอีกฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการให้สามารถก้าวไปข้างหน้า ด้วยการเป็นสื่อกลางและเป็นตัวกลางจัดหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การตลาด การเงิน การบริหารจัดการ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ ที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล

ด้าน นายกำพล อัศวพัฒนากูล กรรมการและเลขานุการ สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า สำหรับคำแนะนำในการเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในยุคไทยแลดน์ 4.0 หรือ เอสเอ็มอี 4.0 ผมอยากจะให้ไว้ 4 แนวทาง เรื่องแรกคือ ผู้ประกอบการทราบดีหรือไม่ว่า ตัวเองทำธุรกิจอะไร และมีความรู้ที่ลึกซึ้งในธุรกิจที่ตัวเองทำดีมากน้อยเพียงใด และเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้วยังจะสามารถทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ได้หรือไม่

เรื่องที่สองคือ สินค้าที่ขายอยู่นั้น ตลาดอยู่ที่ไหน ใครคือผู้ซื้อ ใครคือลูกค้าที่แท้จริง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เป็นยุคของ One World One Market ผู้ประกอบพร้อมหรือยัง พร้อมรองรับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ส่วนเรื่องที่สามคือ การผลิต ต้องดูว่าเทคโนโลยีที่มียังใช้ได้หรือไม่ มีมาตรฐานหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนหรือไม่

เรื่องที่สี่คือ ราคา ผู้ประกอบการไทยชอบคิดว่าตั้งราคาสูง ๆ แล้วไม่รู้ว่าจะขายใคร ปัจจุบันไม่มีแล้วราคาสูง แต่อยู่ที่ว่าราคาสมเหตุสมผลกับคุณภาพสินค้าหรือไม่ ตัวผมเองเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าทำสินค้าได้มาตรฐานและสื่อสารผ่านช่องทางที่ถูกต้อง ถึงลูกค้าที่แท้จริง ไม่ว่าราคาเท่าใด ก็สามารถขายได้ อย่ากลัวที่จะขายสินค้าแพง ถ้าสินค้านั้นดี มีมาตรฐาน และมีคุณภาพ

ในส่วนของสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาฯ ตลอดปี 2559 เรามีหลักสูตรที่ปรึกษาธุรกิจ เพื่อที่จะผลิตที่ปรึกษามืออาชีพ และผ่านเกณฑ์ของหลักสูตรประมาณ 200 คน ซึ่งปัจจุบันได้ออกไปอยู่ในแวดวงที่ปรึกษาในหลากหลายสาขา ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเอสเอ็มอีไทย เพื่อจะช่วยหาคำตอบ บอกช่องทางให้เข้าถึงและเท่าทัน และก้าวไปพร้อมกับนโยบายของรัฐในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
ในขณะที่ ดร. สกุล เกียรติ์จีรวิรัตน์ ที่ปรึกษาและนักวิชาการ สมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาฯ กล่าวเสริมว่า ทำอย่างไรเราจะทำให้สินค้าหรือบริการต่าง ๆ ของเอสเอ็มอี ยกระดับเพื่อเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาล มี 5 กลุ่มหลักที่ต้องเร่งพัฒนา

กลุ่มแรกคือ อาหารและการเกษตร จะต้องพัฒนาให้เป็นเกษตรสมัยใหม่,

กลุ่มที่ 2. สาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่รัฐบาลค่อนข้างจริงจังที่จะให้การสนับสนุน มีการดึงนวัตกรรมใหม่ ๆ และงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาร่วม เพื่อที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทย

กลุ่มที่ 3. เอไอ จักรกลอัจฉริยะ จะต้องพัฒนาทักษะของผู้ที่จะสร้างหรือใช้งานให้มีทักษะชั้นสูงในการผลิตออกมา หรือการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ไทยมีความสามารถทางด้านนี้สูง เราส่งออกทางด้านนี้มานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยนำมารวมกันอย่างเป็นระบบเท่านั้นเอง

กลุ่มที่ 4. ดิจิตอลและเทคโนโลยี เป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าในอนาคตกลุ่มนี้จะสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างมาก และ

กลุ่มที่ 5. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการ เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน โดยให้ดึงเอานวัตกรรมเข้ามาแทรกตัวและสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าที่สูงได้

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *