ตามดูผู้นำธุรกิจกาแฟสดระดับโลก สตาร์บัคส์ รุกตลาดผ่านโมบายแอป

เมื่อพูถึงชื่อ ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ คงจะรู้จักกันดีว่าเป็นร้านกาแฟที่ผู้คนนิยมมาก ทั้งๆที่ราคาขายในระดับที่ถือว่าสูง แต่ว่ากลับมีลูกค้าหรือคนที่ชอบกาแฟสตาร์บัคส์กันอย่างเหนียวแน่น นับเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ใครที่ทำธุรกิจร้านกาแฟน่าติดตามการทำการตลาดของสตาร์บัคส์มากๆเพราะมีการทำการตลาดที่น่าสนใจหลายอย่าง จนทำให้ลูกค้ากลายเป็นแฟนคลับ เป็นจำนวนมากทั่วโลก

ล่าสุดนี้จากข่าวโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้ลงข่าวการทำการตลาดของสตาร์บัคส์ “สตาร์บัคส์” ยกเครื่องดิจิทัล ผุด “โมบายแอป” เพิ่มยอดสั่งซื้อ  เมื่อเร็วๆ นี้การแสดงวิสัยทัศน์ของซีอีโอสตาร์บัคส์ “โฮเวิร์ด ชูลทส์” นอกจากต้องการดับเบิล “มาร์เก็ตแคป” (Market Capitalization) ของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดแนสแดคให้ถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ยังได้เน้นย้ำถึงการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีก กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้จ่ายผ่านออนไลน์ หรือซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ระบุว่า “ชูลทส์” ไม่ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่แน่นอนสำหรับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้ แต่สำหรับการรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนั้นบริษัทอยู่ระหว่าง เร่งมือขยายธุรกิจในช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็มองหาโอกาสรุกเข้าไปในตลาดชาทั่วโลกที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 90 พันล้านเหรียญสหรัฐ กับแบรนด์ “ทีวาน่า” ที่บริษัทได้ซื้อมาเมื่อปี 2555

“สำหรับช่องทางดิจิทัลยังอยู่ในระยะแรกเท่านั้น เป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นในการเติบโตและพัฒนาของเรา” ชูลทส์ได้กล่าวในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีที่ผ่านมา

สตาร์บัคส์มีสาขาแล้วกว่า 2 หมื่นสาขาใน 64 ประเทศ และถือเป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่นที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลก แต่กระนั้นก็ยังเดินหน้าขยายไปยังตลาดใหม่ๆ ต่อเนื่อง อาทิ อินเดีย พม่า จากการเติบโตในสหรัฐที่ชะลอตัวลง

แผนจากนี้บริษัทจะให้น้ำหนักกับการ พัฒนา “โมบายแอปพลิเคชั่น” และบัตรสมาชิกลอยัลตี้ การ์ด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าผ่านทุกๆ ช่องทาง ทั้งร้านสตาร์บัคส์, ร้านขายของชำ ฯลฯ

“อดัม โบรทแมน” หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลของสตาร์บัคส์กล่าวว่า ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าทางสมาร์ทโฟนของสตาร์บัคส์คิดเป็น14% ของยอดขายในสหรัฐ โดยมีการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์ 5 ล้านครั้งในทุกๆ สัปดาห์ และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ริเริ่มทดลองการสั่งสินค้าผ่าน “โมบายแอปพลิเคชั่น”

“การใช้จ่ายผ่านช่องทางมือถือเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมากกว่าการเติบโตจากธุรกิจหลักของเราในปัจจุบัน” ชูลทส์ระบุ

ปัจจุบันยอดขายกว่า 1 ใน 4 ของสาขาในสหรัฐมาจาก “การ์ดสตาร์บัคส์” ในรูปแบบกิฟต์การ์ด และลอยัลตี้การ์ด ที่ลูกค้าสามารถสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกอาหารหรือเครื่องดื่มฟรีได้ ขณะที่เทศกาลวันหยุด

ในปีที่แล้ว สตาร์บัคส์คาดว่า 1 ใน 8ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันต่างได้รับ “การ์ดสตาร์บัคส์” เป็นของขวัญ

“ชูลทส์” ยังได้เน้นย้ำถึงการ “ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่” จากธุรกิจค้าปลีกไปสู่อีคอมเมิร์ซ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการ์ดที่จะช่วยดึงลูกค้ากลับมายังร้านได้ ท่ามกลางการใช้บริการในศูนย์การค้าของผู้บริโภคลดลง

“ความท้าทายของยุคดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นกับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่อยู่มานานแล้วจะยิ่งต้องทำให้ตัวเองทันเทรนด์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปจากโลกภายนอก” ชูลทส์ระบุต่อไปว่า ปัจจุบันลูกค้าของสตาร์บัคส์สามารถรับคะแนนสะสมได้ทุกที่ไม่ว่าจะซื้อสินค้า ภายในร้านหรือนอกร้าน โดยหวังว่าในที่สุดแล้วลูกค้าจะกลับเข้ามาที่ร้านเพื่อแลกคะแนนสะสมต่างๆ

“ชา” ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่บริษัทกำลังจับตามองจากการเติบโตของสินค้าดังกล่าว โดย “ชูลทส์” มุ่งมั่นที่จะปลุกตลาดชาใหม่อีกครั้งหลังจากที่ได้ซื้อแบรนด์ “ทีวาน่า” มาเมื่อปลายปี 2555 ปัจจุบันมี 40 สาขาตั้งอยู่ในศูนย์การค้าของสหรัฐ โดยมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 20 สาขาในปีนี้

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ยังได้เปิดตัวชารสชาติใหม่ ที่ร่วมพัฒนากับโอปราห์ วินฟรีย์ ในชื่อ “Oprah-branded Chai Blend” วางจำหน่ายอยู่ในร้านสตาร์บัคส์และร้านทีวาน่าในสหรัฐและแคนาดา   นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2551 ถึงปัจจุบัน สตาร์บัคส์มีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน

เป็นที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการทำการตลาดของธุรกิจกาแฟสตาร์บัคส์ สำหรับคนที่ทำธุรกิจร้านกาแฟสดอยู่แล้วอาจจะไม่ต้องทำตามทั้งหมดแต่เชื่อแน่ว่าหากคุณได้ศึกษาและนำมาประยุคใช้ คงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของคุณได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณ www.prachachat.net

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *