โรคนิ้วล็อค เป็นง่าย รักษาได้ด้วยตนเอง

นิ้วล็อค “โรคนิ้วล็อก” หรือ Trigger Finger เป็นโรคที่มักเกิดกับคนที่ทำงานโดยการใช้มือทำ และทำให้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อย ๆ เช่น คนที่มีอาชีพทำสวน ตัดแต่งต้นไม้ ชาวไร่ ชาวนา แม่บ้าน ครู พนักงานโรงงาน นักดนตรี เป็นต้น อาชีพเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อกทั้งหมด หากไม่ระวังหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหว โดยทั่วไปแล้วมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และวัยที่มีแนวโน้มในการเกิดโรคได้มากที่สุดคือผู้ที่มีอายุ 40 – 60 ปี  

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อก เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ จนทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นกับปลอกหุ้ม ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบและปวด ทำให้นิ้วเกิดอาการล็อก ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ

โรคนิ้วล็อกมีอาการอย่างไร

สำหรับคนที่เป็นนิ้วล็อกอาการเริ่มแรกจะรู้สึกปวดบริเวณโคนข้อนิ้วมือ นาน ๆ เข้าเริ่มมีอาการปวดมากขึ้น ขยับนิ้วมือหรือกำมือไม่ได้ มีอาการเกร็งข้าง เหยียดออกไม่ได้ จนทำให้มีอาการบวม แดงร้อนตามมา นิ้วล็อกมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง ทั้งนี้ อาการนิ้วล็อกอาจเกิดขึ้นหลายนิ้วได้ในเวลาเดียวกัน หรืออาจเกิดขึ้นได้กับนิ้วมือทั้ง 2 ข้างด้วย โดยอาการนิ้วล็อกจะเกิดขึ้นเมื่อนิ้วใดนิ้วหนึ่งพยายามงอในขณะที่มือต้องออกแรงทำบางอย่าง หากมิตรชาวไร่สงสัยว่าเป็นนิ้วล็อกหรือไม่ อาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้

รู้สึกดังกึกเมื่อต้องงอหรือยืดนิ้ว

เกิดอาการนิ้วแข็ง ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเช้า

รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อก

นิ้วล็อกเมื่องอนิ้ว ซึ่งเกิดขึ้นทันทีที่ยืดนิ้วกะทันหัน

นิ้วล็อกเมื่องอนิ้วโดยไม่สามารถยืดนิ้วกลับมาได้

วิธีง่าย ๆ แก้นิ้วล็อกใน 10 นาที

หลังจากที่ได้ทราบสาเหตุและอาการของโรคนิ้วล็อก เพื่อเฝ้าสังเกตและระมัดระวังการเกิดโรคดังกล่าวแล้ว เรามารู้จักกับวิธีรักษาอาการนิ้วล็อกที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพียงใช้วิถีของแพทย์แผนไทย ที่ไม่ซับซ้อนแต่สามารถทำให้ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ และยังปลอดภัยด้วยค่ะ

แช่น้ำอุ่น 5 นาที

การใช้น้ำอุ่นหรือความร้อน ช่วยทำให้การปวด การอักเสบของกล้ามเนื้อ และนิ้วมือ ลดน้อยลง ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
วิธีทำ : นำไพล ขมิ้นชัน มะกรูด หั่นพอหยาบ ๆ ต้มลงในน้ำเดือด 15 นาที  ยกขึ้น นำมาผสมน้ำเย็น จนกว่าจะอุ่น ๆ แล้วใช้มือข้างที่มีอาการแช่ลงในน้ำอุ่น หรือใช้ทั้งสองมือก็ได้ แช่ไว้นาน 5 – 10 นาที จากนั้นให้ใช้ผ้าขนหนูเช็ดให้แห้ง หรือพันไว้ เพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เย็นเฉียบพลัน แนะนำให้ทำทุกวันในตอนเช้า

นวดมือ 5 นาที

การนวดมือเป็นสิ่งที่สำคัญช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ระบบไหลเวียนเลือดนำอาหารและสารต่าง ๆ ไปเลี้ยงเซลล์ที่ต้องการได้ สำหรับจุดที่ต้องเน้นในการนวด คือ
จุดที่ 1 บริเวณแขนเหนือข้อมือ 2 นิ้ว (โดยการใช้สองนิ้วมือทาบ) แล้วใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10 – 15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ

จุดที่ 2, 3 บริเวณเนินอุ้งมือที่สูงสุด ทั้ง 2 ข้าง  ใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10 – 15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ

จุดที่ 4 บริเวณกึ่งกลางฝ่ามือ ใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10 – 15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ

จุดที่ 5 บริเวณข้อนิ้วมือ ทุกข้อ ใช้นิ้วโป้งกดดันข้อนิ้วมือเข้าจุดศูนย์กลางข้อทั้ง 4 มุม (ล่างซ้ายขวา และบนซ้ายขวา) กดค้างไว้ 10 – 15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ท่าการบริหารยืดเหยียดนิ้วมือร่วมด้วย โดยการกำมือ แบมือ 10 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคนิ้วล็อกนั้นมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ในบางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่กันไป

ขอบคุณอ้างอิง ข้อมูลจาก เว็บไซต์ http://goodlifeupdate.com/healthy-body/68738.html และ https://www.pobpad.com/

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *