ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เดินหน้าโครงการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบของ ธ.ก.ส. เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยกว่า 800,000 ราย ผ่าน 3 โครงการย่อย นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย หัวข้อ “เดินหน้าพักหนี้เกษตรกร” ว่า
รัฐบาลได้ใช้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ เพื่อชดเชยต้นทุนการผลิต แบ่งเป็น ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวกว่า 3,600,000 ราย คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารากว่า 800,000 ราย คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท ได้ดำเนินการช่วยเหลือแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาระหนี้สินของเกษตรกร จึงให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรไทย ด้วยการขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบของ ธ.ก.ส. มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 818,000 ราย คิดเป็นหนี้สินเกษตรกรประมาณ 116,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ายอดหนี้รวมร้อยละ 10 ของวงเงินหนี้สินเกษตรกรทั้งหมดของ ธ.ก.ส. ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการภายใน 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ โครงการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ได้แบ่งออกเป็น 3 โครงการตามสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นรวม 818,000 ราย คือ ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและแหล่งน้ำลดลงมากจนไม่สามารถใช้ทำนาปรังได้ จึงต้องงดการทำนาปรังในหน้าแล้ง ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จากการสำรวจตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้รับความเสียหายกว่า 450,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 64,000 ล้านบาท
โดย ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมเม็ดเงินก้อนใหม่เพื่อให้เกษตรกรได้กู้เพื่อลงทุนในฤดูกาลผลิตใหม่อีก 35,000 ล้านบาท หรือรายละไม่เกิน 100,000 บาท และสุดท้าย ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาและค้างหนี้มา 1 – 3 ปี มีเกษตรกรคงค้างหนี้ประมาณ 340,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 40,000 ล้านบาท ด้วยการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จในการทยอยชำระหนี้ภายในเวลา 10 ปี จากเดิมกำหนดระยะเวลาเพียง 3 ปี ยกเว้นการพิจารณาเป็นพิเศษเป็นรายกรณีขยายเวลาให้ชำระหนี้ได้ถึง 15 ปี ซึ่งจะใช้วิธีเกลี่ยหนี้ในช่วง 3 ปีแรก จะให้พักชำระหนี้เงินต้นไว้ก่อน แต่ให้ชำระดอกเบี้ยเพื่อรักษาวินัยการชำระหนี้ ควบคู่กับทำการฟื้นฟูการประกอบอาชีพอย่างจริงจัง โดย ธ.ก.ส. ร่วมกับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ คาดว่า ใช้งบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท หรือรายละไม่เกิน 50,000 บาท
ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวด้วยว่า ธ.ก.ส. ยังตรวจสอบพบว่ามีเกษตรกรทำงานมานานแต่ไม่สามารถชำระหนี้คืน ธ.ก.ส. ได้ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ กว่า 28,000 ราย จึงจะพิจารณาตัดหนี้ในบัญชีเป็นศูนย์ หรือปลดหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้ พร้อมยืนยันว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องดีในการดำเนินโครงการชำระหนี้ทั้งหมดของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพราะโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรไทยในอนาคตให้มีความเป็นอยู่และประกอบอาชีพเกษตรกรที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง
ขอบคุณที่มา สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : thainews.prd.go.th