
การกินเนื้อช่วยให้มนุษย์มีวิวัฒนาการจนใบหน้าเล็กลง ผลการศึกษาพบว่า การรับประทานเนื้อดิบและการทำเครื่องมือหิน อาจเป็นสาเหตุที่มนุษย์มีฟันและใบหน้าเล็กลงเมื่อเทียบกับบรรพบุรุษแต่โบราณ เนื่องจากเนื้อและเครื่องมือแปรรูปอาหาร ช่วยให้มนุษย์พัฒนาอวัยวะที่ใช้ในการเคี้ยวให้มีขนาดเล็กลงได้ มิใช่มาจากการทำให้อาหารสุก ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากนั้นอีกนาน
ศาสตราจารย์แดเนียล ลิเบอร์แมน และดร. แคเธอรีน ซิงค์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่ผลการวิจัยของตนในวารสาร “เนเจอร์” โดยทั้งสองได้วัดการใช้กล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหารก่อนจะกลืน และพบว่าการกินอาหารที่เป็นเนื้อถึงหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมด กับการใช้เครื่องมือหินแปรรูปอาหารจากเนื้อและพืช เช่นแล่เนื้อหรือทุบอาหารจากพืช ทำให้มนุษย์เคี้ยวน้อยลง 17 เปอร์เซ็นต์ และใช้แรงเคี้ยวน้อยลง 26 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวและฟันมีวิวัฒนาการจนมีขนาดเล็กลง
เมื่อมนุษย์ยุคเริ่มแรกคือโฮโม อิเร็คตัส เริ่มปรากฏขึ้นประมาณสองล้านปีก่อน มนุษย์มีวิวัฒนาการจนมีสมองและร่างกายใหญ่ขึ้น แต่ฟันและลำไส้เล็กลง โดยที่จุดใดจุดหนึ่งของวิวัฒนาการ มนุษย์เริ่มกินอาหารเป็นปริมาณน้อยลง ด้วยปัจจัยสองประการ คืออาหารที่กินมีคุณภาพดีขึ้นมาก และผ่านการแปรรูปอย่างหนักจนเคี้ยวง่าย แต่ไม่น่าจะมีสาเหตุจากการทำให้อาหารสุก เพราะมนุษย์เพิ่งปรุงอาหารกันอย่างแพร่หลายเมื่อประมาณ 500,000 ปีที่แล้วนี้เอง
คณะผู้วิจัยกล่าวด้วยว่า วิวัฒนาการดังกล่าวยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ด้วย เช่น สามารถพูดได้ดีขึ้น และขนาดสมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ขอบคุณที่มา www.facebook.com/BBCThai
Leave a Reply