วิธีการปลูก กระเจี๊ยบเขียว พืชทำเงินอีกชนิดที่น่าสนใจ

กระเจี๊ยบเขียว พืชผักเศรษฐกิจอีกชนิดที่น่าสนใจ  ขายได้ทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ น่าจะเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพได้ บางกอกทูเดย์ เราจึงได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกกระเจี๊ยบเขียว ฝากไว้เป็นแนวทางในการศึกษาและทดลองทำ สำหรับผู้สนใจปลูกผักไว้กินไว้ขาย ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นอีกอาชีพทำเงินสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตัวเองและประเทศชาติ

กระเจี๊ยบเขียว

หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmosches esulentus (Linn.)เป็นพืชล้มลุก มีอายุประมาณ 1 ปี เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศร้อน ทนสภาพอากาศความแห้งแล้งได้ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ลักษณะตามลำต้นมีขนหยาบ มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายฝ่ามือเรียงสลับกันมีขนหยาบ ดอกมีสีเหลือง ที่โคนกลีบด้านในมีสีม่วงออกแดง ออกตามซอกใบ ก้านชูเรณูรวมกันเป็นลักษณะคล้ายหลอด ฝักคล้ายนิ้วมือผู้หญิง ปลายเรียวแหลม ตามฝักมีขนอ่อนๆ มีสีเขียวเข้มถึงสีเขียวอ่อน มีสันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม ฝักอ่อนมีรสชาติหวาน กรอบอร่อยส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียวกว่า

พันธุ์กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว มีพันธุ์ต่าง ๆ มากมายซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งความสูงของต้น ความยาวของฝักและสีฝัก พันธุ์พื้นเมืองเดิมจะมีเหลี่ยมบนฝักมากประมาณ 7-10 เหลี่ยม พันธุ์กระเจี๊ยบเขียวที่ใช้ปลูกเพื่อการส่งออกฝักสด และแช่แข็ง จะต้องเป็นพันธุ์ที่มีฝัก 5 เหลี่ยม สีฝักเขียวเข้ม มีเส้นใยน้อย ลำต้นเตี้ย ผิวฝักมีขนละเอียด ฝักดกให้ผลผลิตสูง ผู้สนใจหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ หรือหาข้อมูลสั่งซื้อได้ง่ายๆทางอินเตอร์เน็ต

กระเจี๊ยบเขียว 5เหลี่ยม

วิธีการปลูก กระเจี๊ยบเขียว

@การเตรียมดิน ขุดไถดินด้วยผาล 3 ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วันเพื่อกำจัดโรค พืช และศัตรูพืช จากนั้นหว่านปุ๋ยคอกเสริมคอกเสริมธาตุอาหารในดินประมาณ 0.5-1 ต้นต่อไร่ อาจเลือกติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ หรือ เลือกปล่อยน้ำเข้าร่องแปลงก็ได้ จัดระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 1 เมตร (พร้อมร่องน้ำประมาณ 50 เซนติเมตร)

@วิธีปลูก กระเจี๊ยบเขียวสามารถทำการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำหมักชีวภาพนาน 15 – 20 นาที เพื่อกำจัดโรคที่อาจติดตามมากับเมล็ดพันธุ์ จากนั้นนำมาผึ่งให้แห้ง ในที่ร่ม ก่อนนำไปปลูกลงแปลงใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1 กิโลกรัม/ไร่ สามารถนำเมล็ดพันธุ์มาทำการเพาะปลูกได้ โดยเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ จากนั้นนำลงแปลงปลูกได้เลย โดยใช้นิ้วจิ้มดินเป็นหลุมเล็กก่อนหยอดเมล็ดพันธุ์ประมาณ 3 เมล็ดต่อหลุม จากนั้นประมาณ 45 วัน จึงพร้อมเริ่มเก็บเกี่ยวได้

วิธีดูแลรักษากระเจี๊ยบเขียว

@การให้น้ำ ในกรณีติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ ควรรดน้ำทุก 2 วัน ครั้ง นานครั้งละ 10-15 นาทีหากต้องการปล่อยน้ำตามร่อง ควรให้อาทิตย์ละครั้ง เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียวเป็นพืช ที่ทนสภาพความแห้งแล้งได้ดี

@การใส่ปุ๋ย บำรุงด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักชีวภาพ ก่อนเข้าสู่ช่วงการเก็บเกี่ยว ใส่ ประมาณ 10-20 กิโลกรัม / ไร่ บำรุงเสริม และควรเสริมความต้านทานโรค ในช่วงระยะเก็บเกี่ยวฝักด้วยน้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่นทางใบทุก 7-10 วันครั้ง หรือใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน อาจใช้ในช่วงแรกก่อนติดฝักและหลังจากตัดต้นเพื่อเร่งการแตกกิ่งแขนง อัตราใส่ปุ๋ยโดยปกติ 20 วันต่อครั้ง ปริมาณปุ๋ย 10-25 กก./ไร่/ครั้งตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งใช้ปุ๋ยประมาณ 75-100 กก.ต่อไร่ต่อฤดูปลูก ทั้งนี้ขึ้นกับความยาวนานของการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย

@การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยมากกระเจี๊ยบเขียวจะมีศัตรูพืชจำพวก แมลงหวี่ขาวเพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำส้มควันไม้ ฉีดพ่น ทุก7 วันครั้งหรือในช่วงระบาด

กระเจี๊ยบเขียว วิธีการเก็บเกี่ยว

เมื่อกระเจี๊ยบเขียวอายุต้นครบ 45 วันจะเริ่มทำการเก็บเกี่ยวกระเจี๊ยบเขียวได้ เก็บได้วันละ 1 ฝักตลอด90วันหรือนานกว่านั้นเล็กน้อย เฉลี่ยการเก็บเกี่ยวประมาณ 90 ฝักต่อต้นต่อรุ่น การเก็บควรใช้มีดคมตัดให้ขาดครั้งเดียว และไม่ควรเก็บใส่รวมกันครั้งละมากๆเพื่อป้องกันฝักช้ำ

ราคากระเจี๊ยบเขียว ขึ้นลงตามความต้องการของตลาด ซึ่งราคา เฉลี่ยที่ขายกัน ราวๆ 13-24 บาทต่อกิโลกรัม ณ 05/ 2558 กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชผักที่มีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น ผู้ที่สนใจปลูกกระเจี๊ยบเขียวสามารถเช็คราคากลางที่  www.taladsimummuang.com ได้ ผู้ที่สนใจอยากจะปลูกขายถ้ายังไม่เคยมีประสบการณ์ทำการเษตร หรือไม่เคยปลูกกระเจี๊ยบเขียวมาก่อน อาจจะเริ่มจากทดลองปลูกน้อยๆก่อน เพื่อทดลองตลาด รวมถึงจะได้ทราบต้นทุนในการปลูก หรือปลูกผสมผสานก็จะยิ่งดีเป็นการสร้างรายได้และลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชชนิดเดียว เป็นการสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนมาขึ้นด้วย

ขอบคุณ ภาพจาก www.bansuanporpeang.com

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *