มะขามเปรี้ยว เป็นอีกพืชเศรษฐกิจทำเงิน สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมะขามเปรี้ยวเป็นไม้ยืนต้นอายุยืน อีกทั้งยังสามารถขึ้นได้เกือบทุกสภาพดิน แทบทุกภาคของประเทศ มะขามเปรี้ยวเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งแบบสด และแบบแปรรูป ความต้องการในอุตสาหกรรมก็มีต่อเนื่อง สำหรับใครสนใจอยากจะศึกษาและลองปลูกมะขามเปรี้ยวขาย บางกอกทูเดย์เราก็มีข้อมูลและตัวอย่างมะขามเปรี้ยวพันธุ์ ศรีสะเกษ 019 หรือ ศก.019 ให้ชมว่าน่าสนใจขนาดไหน..
มะขามเปรี้ยวที่นิยมปลูกที่ BangkokToday.net จะได้นำมาแนะนำสำหรับสร้างโอกาสทางเลือกการทำธุรกิจเกษตร คือ มะขามเปรี้ยวพันธุ์ ศรีสะเกษ 019 หรือ ศก.019 จะมีข้อเด่นและข้อดีอะไรบ้างก็ลองศึกษากันดูเลย
มะขามเปรี้ยวพันธุ์ ศรีสะเกษ 019 หรือ ศก.019
ข้อมูลมะขามเปรี่ยว ศรีสะเกษ 019 ปี 2540 กรมวิชาการเกษตร ได้รับรองพันธุ์ ให้มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 019 หรือ ศก.019 ที่ให้ผลผลิตดก ฝักใหญ่ตรง มีรสเปรี้ยวสูง เป็นพันธุ์ดี มีคุณภาพ
ต้นมะขามเปรี่ยว ศรีสะเกษ 019 เป็นพุ่ม รูปทรงกลม ใบมีสีเขียว มีจำนวนใบย่อยประมาณ 12 – 16 คู่ ดอก มีสีเหลืองริ้วแดง เริ่มออกดอกรุ่นแรกประมาณกลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ระยะจากการออกดอกถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 17 วัน จากดอกบนถึงดอกติดฝักใช้เวลาประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 238 – 258 วัน ฝักก็จะแก่ สามารถเก็บเกี่ยวได้ ฝักลักษณะฝักตรง ฝักใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.95-2.6 เซนติเมตร ยางประมาณ 10.8-18 เซนติเมตร และหนาประมาณ 1.35-1.67 เซนติเมตร มีเปอร์เซ็นต์เนื้อประมาณ 44-50 %
ลักษณะดีเด่นของมะขามเปรี้ยวพันธุ์ ศรีสะเกษ 019 หรือ ศก.019
- ให้ผลผลิตสูง ประมาณ 9.13 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี (ค่าเฉลี่ยของผลผลิต 6 ปี เมื่ออายุ 3 -8 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับมะขามเปรี้ยวพันธุ์ทั่วๆ ไป มะขามเปรี้ยวศรีสะเกษจะให้ผลผลิตสูงกว่า 41.18 %
- อัตราส่วนของเนื้อต่อเปลือก เมล็ดและรก ประมาณ 1 : 1.12
- ฝักมีลักษระตรง ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยวและแกะเอาเปลือกและเมล็ดออก
- มีเปอร์เซ็นต์กรดทาร์ทาริคสูงประมาณ 14 – 19 %
วิธีการปลูกมะขามเปรี้ยว พันธุ์ ศรีสะเกษ 019
ควรมีการไถพรวนกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเสียก่อน ต่อจากนั้นกำหนดหลุมปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 8 x 8 เมตร (ระยะห่างระหว่างแถว 8 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 8 เมตร) ซึ่งจะปลูกได้ 25 ต้นต่อไร่ ควรมีการเตรียมหลุมปลูกขนาดกว้างxยาวxลึก เท่ากับ 60x60x60 เซนติเมตร ดินที่ขุดจากหลุมปลูกให้แยกเป็นสองกอง คือดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ตากดินที่ขุดขึ้นมาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ่ยคอกประมาณ 1-2 บุ้งกี๋ต่อหลุม จากนั้นจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอาดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุมก่อนแล้วจึงกลบทับด้วยดินชั้นล่าง การเตรียมต้นพันธุ์ที่จะปลูก
การปลูกมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดี อาจใช้วิธีปลูกมะขามต้นตอลงในแปลงก่อน เมื่อต้นตออายุได้ประมาณ 1-1 1/2 ปี หรือขนาดลำต้นเท่าแท่งดินสอ จึงทำการเสียบกิ่งโดยใช้ยอดมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีมาเสียบใช้วิธีการเสียบข้าง
อีกวิธีการหนึ่งคือการทาบกิ่ง โดยการเตรียมต้นตอมะขามไว้ในแปลงเพาะกล้า เมื่อต้นตอมีอายุประมาณ 8 เดือน ก็ขุดนำต้นตอมาหุ้มด้วยขุยมะพร้าวบรรจุถุงพลาสติก แล้วนะไปทาบกับมะขามเปรี้ยวพันธุ์ที่ต้องการ หลังจากทาบแล้ว 45 วัน สังเกตรากต้นตอจะเดิน จึงตัดมาปักชำในถุงพลาสติกบรรจุดิน จนเจริญเติบโตแล้วนำลงปลูกในแปลง สำหรับฤดูปลูกมะขามควรจะปลูกต้นฤดูฝน เพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามเปรี้ยวที่ยังเล็กอยู่จะได้รับน้ำฝน สามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามเปรี้ยวที่ปลูกใหม่ควรจะยึดกับหลักเพื่อให้ต้นมะขามเปรี้ยวขึ้นตรงไม่โค่นล้มเนื่องจากลมแรง หากปลูกด้วยกิ่งทาบหลังปลูกแล้วจำเป็นต้องแกะเอาเชือกฟาง หรือผ้าพลาสติกตรงรอยต่อออกเพราะถ้าไม่ได้ต้นมะขามเปรี้ยวแคระแกร็นหรืออาจจะตายได้
การขยายพันธุ์มะขาวเปรี้ยว
วิธีการขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การติดตา และการต่อกิ่ง แต่วิธีที่นิยมและได้ผลดีที่สุด มี 2 วิธี คือ การทาบกิ่ง และการต่อกิ่ง
การปฏิบัติดูแลรักษา
1.การให้น้ำ ในระยะปลูกใหม่ หากฝนไม่ตก จำเป็นต้องรดน้ำทุก 1-2 วัน ประมาณ 1 สัปดาห์ จนกว่าจะตั้งตัวได้ จากนั้น จึงเว้นช่วงเวลาการรดน้ำ ให้ห่างกว่าเดิมอาจจะเป็น 3 หรือ 7 วันต่อครั้งเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ของปีแรก
2.การกำจัดวัชพืช ในระยะที่ต้นยังเล็กอยู ่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชเป็นระยะไป อย่าให้วัชพืชแย่งน้ำ และอาหารได้ การทำความสะอาดรอบโคนต้น นอกจะเป็นการกำจัดวัชพืชแล้วยังสามารถทำลายแหล่งอาศัยของ โรคแมลงได้ด้วย
3.การใส่ปุ๋ย สำหรับมะขามต้นเล็ก ยังไม่ออกผล อายุ 1-3 ปี ควรให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 450 กรัมต่อต้น (ประมาณ 1 กระป๋องนม) ในปีแรกแบ่งใส่ 3 ครั้ง (4 เดือนต่อครั้ง) จำนวน 100,150,200 กรัม ตามละดับ สำหรับปีต่อๆไป ให้เพิ่มปุ๋ยมากขึ้นตามจำนวนอายุที่มากขึ้น เมื่อมะขามตกผลแล้ว ควรใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือช่วงต้นฝนและปลายฝน ซึ่งจะช่วยให้มีการติดผลมากขึ้นอัตราที่ใส่คำนวณจากสูตร เช่นต้นมะขามอายุ 2 ปี ต้องใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 จำนวน 2/2 = 1 กก. โดยแบ่งใส่ต้นฝน 1/2 กก. และปลายฝนอีก 1/2 กก. รวมเป็น 1 กก.
การเก็บเกี่ยวมะขามเปรี้ยว
มะขามเปรี้ยวจะแก่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ใช้ช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ของปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศด้วย การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดที่ขั้วให้ หลุดออกจากกิ่ง ถ้ามะขามต้นโตให้ใช้บันไดขึ้นเก็บเกี่ยวฝักที่อยู่สูง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วนำฝักมะขามเปรี้ยวมาแกะเอาเปลือกและเมล็ดออกจากนั้นนำเนื้อมะขาม ที่แกะได้เรียกว่า มะขามเปียก บรรจุลงในภาชนะต่างๆ เช่น ถุงพลาสติก หรือ เข่ง เพื่อจำหน่ายต่อไป
สำหรับวิธีการเก็บรักษามะขามเปียกไว้นานๆ เพื่อจะนำมาจำหน่ายในช่วงที่มีราคาสูง โดยที่เนื้อมะขาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำทำได้โดย การนำมะขามเปียกที่บรรจุในภาชนะ ไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิต่ำ คือ 5 อาศาเซลเซียส ซึ่งสามารถชะลอการเกิดสีดำของเนื้อมะขามได้ประมาณ 10 เดือน
การดูแลรักษาต้นมะขามหลังการเก็บเกี่ยว
หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ทำการตัดแต่งกิ่งมะขามเปรี้ยว โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลงทำลาย หรือกิ่งที่ถูกตัดออก และให้ใช้สีน้ำพลาสติกหรือยาป้ายกันราทาที่รอยแผล เพื่อป้องกันราที่จะเกิดขึ้นภายหลัง สำหรับกิ่งที่ถูกตัดออก ควรรีบนำออกจากแปลงมะขามเปรี้ยวไปทิ้ง หรือทำลายที่อื่น โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค หรือแมลง ควรรีบทำลายโดยการนำไปเผาทิ้ง เพื่อป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคหรือแมลง
โอกาสและแนวโน้มสำหรับปลูกมะขามเปรี้ยวเชิงธุรกิจ ทีมงานแอดมินบางกอกทูเดย์ มองว่า มะขาวเปรี้ยว เป็นพืชที่สร้างรายได้ระยะยาวได้ดี เพราะลงทุนปลูกครั้งเดียว แม้จะใช้ระยะเวลานานสักระยะ และใช้พื้นที่กว้าง กว่าจะได้เก็บผลผลิตขาย แต่ว่า สามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ใบอ่อน รวมถึง ผลมะขาม ที่มีความต้องการสูงต่อเนื่อง ทั้งแบบแปรรูปทานสด จนกระทั้งสู่อุตสาหกรรมอาหาร ดูแลง่าย เพราะขึ้นได้ในดินเกือบทุกสภาพ จากเงื่อนไขในการปลูก ทั้งระยะเวลา พื้นที่ปลูก ตลอดจนการให้ผลผลิตกว่าจะได้เก็บเกี่ยวนาน …ทำให้คู่แข่งที่จะเข้ามาธุรกิจนี้ก็เลยลดน้อยไปด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (045) 814-581 หรือ www.doa.go.th
ขอบคุณ doa.go.th (คุณชูศักดิ์ สัจจพงษ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร )
เรียบเรียงโดย BangkokToday.net