อัตราภาษีที่อยู่อาศัยบ้านไม่เกิน 2 ล้านจ่ายปีละ 600 บาท แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้สรุปร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณา เพื่อส่งเรื่องต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเห็นชอบ โดยสาระสำคัญของการเก็บภาษีที่ดินครั้งนี้ กำหนดอัตราเพดานภาษีไว้ 4 ประเภท คาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไปประกอบด้วย
1.ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 0.2% ของราคาประเมิน
2.ภาษีที่ดินที่อยู่อาศัยอัตรา 0.3% ของราคาประเมิน
3.ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม 1.0% ของราคาประเมิน
4.ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ โดยช่วง 1-3 ปีแรกเก็บภาษี 1%, ช่วง 4-6 ปี เก็บเพิ่มเป็น 2% และปีที่ 7 ขึ้นไป เสียภาษี 3%
การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจริง 3 ประเภทแรก โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะเก็บเป็นขั้นบันไดตามราคาประเมินในส่วนแรก ได้แก่
ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาทแรก เก็บภาษี 0.01% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่ายปีละ 200 บาท ไปถึงมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไปเก็บภาษี 0.1% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่จ่ายปีละ 56,300 บาท
ภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท เก็บภาษี 0.03% หรือคิดเป็นภาษีที่จ่ายปีละ 600 บาท ไปจนถึงบ้านที่ราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป เก็บภาษี 0.2% หรือคิดเป็นเงินภาษีที่ต้องจ่ายปีละ 163,000 บาท
ส่วนภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท เก็บภาษี 0.1% หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายปีละ 2,000 บาท ไปจนถึงมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 0.6% หรือคิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายปีละ 28 ล้านบาท
กระทรวงการคลังประเมินว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้ในช่วง 3 ปีแรก ที่มีการบรรเทาผลกระทบ จะเก็บภาษีได้ปีละ 82,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป จะเก็บภาษีได้ 97,000 ล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพราะจะเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก และยังช่วยส่งเสรอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้น แหล่งข่าวระบุ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะการบรรเทาภาระภาษีกรณีที่อยู่อาศัยให้เหลือครึ่งหนึ่งของภาษีที่ต้องชำระเป็นเวลา 3 ปี หากผู้เสียภาษีอยู่อาศัยมาเกิน 15 ปี และมีรายได้น้อย แต่ได้รับผลกระทบจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการขยายตัวเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ส่วนการลดและยกเว้นภาษี จะพิจารณาจากความเสียหายจากภัยพิบัติ, เสียหายจนต้องซ่อมแซม ที่คาดว่าจะลดภาษีไม่เกิด 50% ของภาษีที่ต้องเสีย